นายกฤตธี ศิริสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร deeple โปรแกรมเมอร์ที่มีดีกรีแชมป์โลกการประกวดซอฟต์แวร์ Worldwide Imagine Cup 2010 และผู้พัฒนา deeple AI Chatbot เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปรากฎการณ์คนละครึ่ง ทำให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านแอพ “เป๋าตัง” ซึ่งขณะนี้มีผู้ใช้ราว 40 ล้านคนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อยอดแอพ “เป๋าตัง” ไปสู่ซูเปอร์แอพ ที่รวมบริการต่างๆของภาครัฐ หรือเปิดให้บริการดิจิทัลเอกชนเข้ามาเชื่อมต่อระบบกับแอพ “เป๋าตัง” ซึ่งเป็นอีวอลเล็ต เพื่อชำระค่าสินค้าบริการ
“วันนี้เราพึ่งพาแอพต่างชาติ เป็นหลักเพื่อเข้าถึงบริการดิจิทัล ทั้งโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก กูเกิล ไลน์ ถ้าเป็นกลุ่มออนไลน์ช็อปปิ้งก็มี ลาซาด้า ช็อปปี้ เจดีเซ็นทรัล แอพฟู๊ดเดลิเวอรี่ แกร็บ ฟู๊ดแพนด้า ซึ่งคนไทยต้องจ่ายค่าธรรมเนียม หรือค่าฟี ให้กับบริษัทต่างชาติ ขณะที่ข้อมูลคนไทยวิ่งไปออกต่างประเทศหมด ไม่มีแอพของไทย เป็นทางเลือกใช้บริการ ตอนนี้มาตรการภาครัฐที่ออกมา ทำให้มีปริมาณคนใช้แอพ”เป๋าตัง” มากกว่า แกร็บ” หรือแอพดังๆ จากต่างประเทศ และคนคุ้นเคยกับการใช้งานแอพ “เป๋าตัง” เป็นจังหวะที่ดีที่จะผลักดันให้แอพ “เป๋าตัง” ไปสู่ซูเปอร์แอพของคนไทย โดยเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับคนไทย มากกว่าการให้ประชาชนใช้เพื่อขอรับสิทธิ์จากทางภาครัฐ”
นายกฤตธี กล่าวต่อไปว่าในมุมมองของนักพัฒนาเทคโนโลยีนั้นมองว่าแอพเป๋าตัง ซึ่งเป็นดิจิทัลวอลเล็ตนั้นควรเป็นตัวกลางการเชื่อมต่อบริการดิจิทัลต่างๆ โดยอาจเริ่มจากบริการภาครัฐ เช่น ชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ชำระภาษี ต่อทะเบียน ก่อนต่อยอดไปสู่การเป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินให้กับภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี เพื่อลดการพึ่งพาแอพจากต่างประเทศ อย่ามองว่าภาครัฐ ทำ “เป๋าตัง”ออกมาแข่งกับเอกชน เพราะวันนี้ภาคธุรกิจเอง เสียค่าฟี ให้กับแอพต่างประเทศ ซึ่งเป็นต้นทุนทางธุรกิจที่สูงมาก
ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่าขณะนี้กรุงไทยกำลังพัฒนาต่อยอดแอพ “เป๋าตัง” อยู่ เบื้องต้นจะเริ่มนำร่องทำดิจิทัลคอมเมิร์ซ ซึ่ง TARAD.com เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำระบบจัดการสินค้าหลังบ้าน ทั้งนี้มองว่าสามารถต่อยอดแอพ “เป๋าตัง” ไปสู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของคนไทยได้มหาศาล อย่างในจีนดิจิทัลวอลเล็ต อย่างอาลีเพย์ และวีแชตเพย์ เป็นเกตเวย์ เชื่อมต่อให้เข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น การจองพบแพทย์ในโรงพยาบาล
“เป๋าตัง”ควรเป็น “ซิงเกิล เกตเวย์” ให้คนไทยเข้าถึงบริการดิจิทัลต่างๆของภาครัฐ และเอกชน เพื่อลดการพึ่งพา หรือการใช้งานแอพจากต่างชาติ”
ทั้งนี้ในไตรมาสแรกปี 2564 บริษัทอิฟินิธัส บาย กรุงไทย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารกรุงไทย นำร่องดิจิทัลคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็น การต่อยอดจากฐานผู้ใช้แอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” โดยร่วมมือธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส) บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) และบมจ.พีทีทีโออาร์ โดยนำสินค้า 20 ประเภท มาขายบนแพลตฟอร์ม ในรูปแบบของการเล่าเรื่องเป็น Story Telling ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าเป็นหลักการ ทั้งนี้เพื่อช่วยคนไทยสินค้าไทยโดยเฉพาะผู้ผลิตรายเล็กๆได้มีโอกาสค้าขายบนแพลตฟอร์มและมีรายได้ในอนาคต และลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่มีต้นทุนค่าธรรมเนียม รวมถึงค่าขนส่งสินค้าที่สูงกว่าราคาสินค้า
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,643 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่่เกี่ยวข้อง
“คนละครึ่งเฟส2” ใครได้สิทธิรีบโหลดแอปเป๋าตัง ลงทะเบียนด่วนก่อนเสียสิทธิ3500
กระทรวงการคลัง แนะผู้ได้รับสิทธิ "คนละครึ่งเฟส 2" รีบยืนยันตัวตนด่วน
"พันธบัตรวอลเล็ต สบม." จ่ายดอกเบี้ย-ซื้อขายผ่านแอปเป๋าตังได้แล้ว
เปิดโฉม “แอปเป๋าตัง” ยืนยันรับสิทธิคนละครึ่งเฟส1 500 สรุปจบที่นี่