ฝ่ายค้านยื่นป.ป.ช.สอบเอาผิด“ศักดิ์สยาม-นิพนธ์”หลังศึกซักฟอก

19 มี.ค. 2564 | 07:09 น.

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นป.ป.ช.สอบเอาผิด "ศักดิ์สยาม”กล่าวหาส่อทุจริต-ผลประโยชน์ทับซ้อนในโครงการต่างๆ ทั้งให้สอบปม “ที่ดินเขากระโดง” พร้อมยื่นสอบ“นิพนธ์"ปมเอื้อประโยชน์เครือญาติ

วันนี้ (19 มี.ค.64) ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบไปด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และ นายมงคลกิตต์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะ รมว.คมนาคม  และ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย  

กรณีมีพฤติการณ์และหลักฐาน ที่เชื่อว่ากระทำการทุจริต เนื่องจาก นายศักดิ์สยาม มีหนังสือสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงคมนาคม ให้ส่งร่างทีโออาร์ของการประมูลโครงการต่างๆ ให้ตรวจสอบก่อน และเมื่อประมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนลงนามในสัญญาจะต้องแจ้งให้กับรัฐมนตรีรับทราบเพื่อดำเนินการต่อไป 

ซึ่งข้อสั่งการดังกล่าว ทำให้เห็นถึงการแทรกแซงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยกระทำการนอกเหนือจากที่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐกำหนดไว้ ทำให้ทราบข้อมูลภายในเกี่ยวกับกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของงาน ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้าง เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่เป็นพวกพ้องของตนและยังทำให้ข้าราชการในสังกัด ไม่กล้าที่จะกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของงาน ให้แตกต่างเป็นอย่างอื่น
 

การกระทำของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง  เป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ จึงขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ เพื่อนำไปสู่การลงโทษตามกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ ยังยื่นขอให้เอาผิดกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กรณี "ที่ดินเขากระโดง" จังหวัดบุรีรัมย์ ที่พบว่ามีเครือญาติของนายศักดิ์สยาม เข้าครอบครองที่ดิน จำนวนกว่า 5000 ไร่ ทั้งที่เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐ  แต่รัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย กลับไม่เพิกถอนโฉนด ตามที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ซึ่งถือเป็นการจงใจไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตต่อหน้าที่  ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การยื่นเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเราเห็นว่า นายศักดิ์สยาม และ นายนิพนธ์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่รักษาประโยชน์ประเทศชาติ ทำให้ทรัพย์สินประเทศเกิดความเสียหาย รายละเอียดส่วนใหญ่อยู่ในการอภิปราย 

โดยเฉพาะประเด็นกระทรวงคมนาคม จริง ๆ เป็นเรื่องเก่าที่ป.ป.ช.ได้มีมติเป็นที่ยุติแล้วเมื่อปี 2554 และทำหนังสือให้รฟท.ขับไล่ผู้บุกรุก และให้กรมที่ดินได้เพิกถอน แต่ปราฎว่ายังไม่มีการดำเนินการ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่ดินตามแผนที่ 5,083 ไร่ 80 ตารางวา เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์  หวงห้ามไว้เป็นสาธารณสมบัติ อยู่ในการดูแลของการรถไฟ และศาลมีคำสั่งว่า ใครที่เข้าไปครอบครองอยู่ให้เพิกถอน รื้อถอน  และเรียกค่าเสียหาย 

“ประเด็นนี้เราก็เห็นว่า ได้อภิปรายรมต.ที่กำกับดูแลการรถไฟ และ รมว.คมนาคม ซึ่งการมาร้องป.ป.ช.ของฝ่ายค้าน ก็เป็นการดำเนินการให้สุดกระบวนการ ส่วนรายละเอียดขอไม่เปิดเผย เพราะว่าป.ป.ช.ได้รับไว้พิจารณาแล้ว”

ด้าน นายนิคม บุญวิเศษ กล่าวว่า ขณะนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีรุกที่เขากระโดงแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย ที่ใครไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา ส.ส.หรือนายกฯ ก็ตาม อยากให้กฎหมายบังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ใช่กฎหมายมีไว้เพื่อคุกขังคนจน คนไม่ร่ำรวย ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ การกระทำของนายศักดิ์สยาม จึงเข้าข่ายมาตรา 157 ละเว้นการปฏบัติหน้าที่หรือไม่ เพราะเป็นรัฐมนตรีกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ แต่ไม่มีการดำเนินการต่อทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่า ที่ดินแห่งนี้เป็นของการรถไฟ  ฝ่ายค้านจึงต้องยื่นให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ

ด้าน นายมงคลกิตต์ กล่าว่า ที่ต้องดำเนินการต่อกับ นายศักดิ์สยาม  สืบเนื่องจากที่ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนใช้เวลารวบรวมหลักฐานและฟังคำชี้แจงของนายศักดิ์สยาม แล้ว จึงได้มายื่นให้ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อ ใน 3 ประเด็น 

1.กระทำการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 เกี่ยวกับเรื่องของการแทรกแซงหน่วยงานในกำกับในกระทรวงคมนาคมทั้งหมด และให้ไปตรวจสอบว่ากากรระทำดังกล่าวมีการรู้เห็น หรืออาจจะรู้เห็นเป็นใจอย่างไร ในการปล่อยปละละเลยให้หน่วยงานในกำกับไปดำเนินการแก้ไขคุณลักษณะในการประกวดราคาในปีงบประมาณ 63 และ 64 โดยปี 63 ไม่ได้มีการลงนามในเอกสาร แต่ปี 64 นายศักดิ์สยาม ลงนามเซ็นกำกับ แม้จะชี้แจงว่าดำเนินการถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล แต่ก็เห็นว่าควรให้ป.ป.ช.ชี้ให้ชัดว่าทำถูกต้องหรือไม่

นอกจากนี้ยังพบว่า มีการดำเนินการแก้ไขคุณลักษณะในการประมูลงานของกรมทางหลวง และ กรมทางหลวงชนบท ซึ่งคระกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเคยบอกแล้วว่าการรับเหมา การก่อสร้างงานให้กำหนดคุณลักษณะแฉพาะประสบการณ์และผลงานที่เคยประมูลงานมา ไม่น้อยกว่า 40%  ซึ่งไม่มีใครเขาดำเนินการว่างานก่อสร้างไปจะต้องมีโรงงานผสม แอสฟัสท์คอนกรีต หรือหนังสือรับรอง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการกีดกันทางการค้า อาจเข้าข่ายเป็นการทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาหน่วยงานรัฐ 42 มาตรา 11 และมาตรา 13 จึงต้องให้ป.ป.ช. ตรวจสอบ

ส่วน นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เป็นกรณีเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเข้าข่ายการกระทำความผิดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และมีผลประโยชน์ทับซ้อน


ส่วนนายประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นของพรรคก้าวไกล เป็นเรื่องเกี่ยวกับนายนิพนพธ์ เป็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรม คุณธรรม ของนักการเมือง ซึ่งปรากฏอยู่ในข้อบังคับ ระเบียบป.ป.ช.ที่จะไปดำเนินการต่อได้ รายละเอียดเป็นไปอย่างที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงได้มีการมายื่นต่อป.ป.ช. มั่นใจว่าเอกสารมีน้ำหนัก ที่ป.ป.ช.จะสามารถพิจารณาได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องไปหาพยานหลักฐานอื่น และหวังว่าป.ป.ช.จะพิจารณาอย่างรวดเร็ว

สำหรับการยื่นร้องเอาผิดต่อ ป.ป.ช.ในครั้งนี้ เป็นผลพวงมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนหน้านี้ และถือเป็นรัฐมนตรีจำนวน 4 รายแล้ว ที่ถูกยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. หลังจากก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยได้ยื่นเอาผิดนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์