จับตา‘ศาลรธน.’ ตัดสิน 2 คดี ส.ส.พลังประชารัฐ

12 พ.ค. 2564 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2564 | 11:24 น.

ปิดฉากไปแล้วสำหรับคดีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ใน “ศาลรัฐธรรมนูญ”

เป็นการ “ปิดฉาก” ที่ทำให้ “ร.อ.ธรรมนัส” ได้ไปต่อ ทั้งในตำแหน่ง ส.ส.พะเยา และ รัฐมนตรี 

เพราะ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ด้วยมติเอกฉันท์วินิจฉัย เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 ที่ผ่านมาว่า สมาชิกภาพส.ส. และความเป็นรัฐมนตรีของ “ร.อ.ธรรมนัส” ไม่สิ้นสุดลง จากการที่ศาลออสเตรเลียได้มีคำพิพากษาเมื่อเดือนมี.ค. 2537 ว่า ร.อ.ธรรมนัสมีความ ผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติดสั่งคุก 6 ปี แต่จำคุกจริง 4 ปี ก่อนถูกเนรเทศกลับประเทศไทย  

โดยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุเหตุ ผลสรุปได้ว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ร.อ.ธรรมนัส ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ก็เป็นของศาลแขวงเครือ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ไม่ใช่ศาลไทย จึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายไทย

คำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ออกมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก มีทั้งฝ่ายที่ “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย”

อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีของ “นักการเมือง” ที่น่าสนใจ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาและคาดว่าอีกไม่นานศาลรัฐธรรมนูญจะกำหนดนัด “วันวินิจฉัย” ออกมา ก็ยังคงเป็นคดีของ “2 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ” 

คดีแรก เป็นกรณีของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคดังกล่าว แต่ได้ย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ในภายหลัง

เพราะเหตุดังกล่าวทำให้มีการร้องเรียนไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” และเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ส่งความเห็นของส.ส.จำนวน 60 คน ขอให้วินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพส.ส.ของ นายไพบูลย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง ( 5) หรือไม่ 

 

จากกรณี นายไพบูลย์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคดังกล่าว แต่ได้ไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หลังจากพรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพความเป็นพรรคการ เมือง โดยที่ นายไพบูลย์ ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ และไม่ได้เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง 

 

จับตา‘ศาลรธน.’ ตัดสิน 2 คดี ส.ส.พลังประชารัฐ

 

คดีนี้นับแต่วันที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้รับคำร้องไว้วินิจฉัย ขณะนี้ผ่านมาแล้วกว่า 4 เดือน คาดว่าเร็วๆ นี้ ศาลน่าจะนัดลงมติวินิจฉัยออกมา

ถัดไปเป็นคดีของ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เช่นกัน

โดยมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้พิจารณา กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย พร้อมคณะ 145 คน ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรค 1 ว่า

 

การที่ นายสิระ เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวัน เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2538 ว่ามีความผิดอาญาฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 จำคุก 4 เดือน และให้ นายสิระ คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย และริบสัญญาจะซื้อจะขาย เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) หรือไม่  

คดีนี้ อีกไม่นาน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็คงจะได้ประชุมปรึกษาหารือกัน และนัดวันลงมติวินิจฉัยตามมาในเร็ววัน 

จากคดีของ “ร.อ.ธรรมนัส” สู่ กรณีของ 2 ส.ส.พลังประชารัฐ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” และ “สิระ เจนจาคะ” น่าจับ ตาว่าคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ใน 2 คดีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,678 หน้า 10 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม 2564