เปิดคำแถลงงบประมาณปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท

31 พ.ค. 2564 | 05:55 น.

เปิดคำแถลงงบประมาณปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท รัฐบาลคาดเศรษฐกิจโต 4-5% ประกาศเดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมสูงสุด 7.33 แสนล้านบาท นายกฯ เน้นย้ำใช้งบประมาณอย่างสร้างสรรค์ กวดขันป้องกันทุจริต เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้

31 พฤษภาคม 2564 ฐานเศรษฐกิจ เกะติดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 หรือ งบประมาณปี 65 ในวาระที่ 1 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงรายละเอียดเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ต่อรัฐสภา ความยาวรวมกว่า 30 หน้า ใช้เวลาแถลงงบประมาณฉบับนี้ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

หลักการและเหตุผล

เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  เป็นจำนวนไม่เกิน 3.1 ล้านล้าน บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,074,424,773,300 บาท เพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 596,666,700 บาท และเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย เป็นจำนวน  24,978,560,000 บาท  

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 65 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายและมาตรการด้านต่าง ๆ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565  เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน  โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศและผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป

เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกตามความคืบหน้าของการอนุมัติและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งด้านการเงินและการคลังที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม รวมทั้งการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ของโรคโควิด-19 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนนำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจท่ามกลางตลาดแรงงานและกิจกรรมทางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0  

เศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่า จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0 – 5.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของหลายประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวนับตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2564  สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7  

ทั้งนี้ ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รัฐบาลประมาณการว่า จะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,511,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.26 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 111,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,400,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเพียงพอ จึงกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,400,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,100,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย

ฐานะการคลัง

สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม  2564 มีจำนวน 8,472,187.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 8,068,913.7 ล้านบาท

ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 372,784.3 ล้านบาท  โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ฐานะและนโยบายการเงิน

การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมามีการผ่อนคลายต่อเนื่อง  เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัว จากการระบาดระลอกแรกและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ที่ร้อยละ 0.5 เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมมีความผ่อนคลาย สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการช่วยดูแลภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้และเอื้อให้ต้นทุนทางการเงินของการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ในระดับต่ำ

สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 มีจำนวน 250,433.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,100,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,400,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,360,543.0 ล้านบาท  หรือคิดเป็นร้อยละ 76.1 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.02  รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 24,978.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8  รายจ่ายลงทุน จำนวน 624,399.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.1 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,518.2 ล้านบาท

เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประมาณการการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  และทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท ประกอบกับรัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายซึ่งมีลักษณะรายจ่ายประจำที่จำเป็นต้องใช้จ่าย อาทิ ภาระค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ ตามกฎหมาย ข้อผูกพัน การจัดสวัสดิการทางสังคมและบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานเพื่อดูแลประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ค่าใช้จ่ายเพื่อการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละระดับ รายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จึงได้กำหนดรายจ่ายลงทุนไว้จำนวน  624,399.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.14 ซึ่งเป็นวงเงินที่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับรายจ่ายลงทุนที่ต้องดำเนินการ รัฐบาลได้มีมาตรการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี  เพื่อนำมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ได้แก่ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) โดยเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่จะดำเนินการในปี 2565  เร่งรัดการลงทุนของหน่วยงานตามแผนการใช้จ่ายจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) รวมทั้งการลงทุนโดยใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวางรากฐานการพัฒนาระบบน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิต และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การลงทุนเพื่อการให้บริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการภายใต้ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้

1.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย จำแนกได้ดังนี้

  • งบกลาง รัฐบาลได้กำหนดไว้ จำนวน 571,047.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.4 ของวงเงินงบประมาณ
  • งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ รัฐบาลได้กำหนดไว้ จำนวน 1,032,010.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 33.3 ของวงเงินงบประมาณ
  • งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ รัฐบาลได้กำหนดไว้ จำนวน 208,177.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.7 ของวงเงินงบประมาณ จำนวน 11 เรื่อง อาทิ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้, เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ, เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย,บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ, ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น 
  • รายจ่ายบุคลากร รัฐบาลได้กำหนดไว้ จำนวน 770,160.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.8 ของวงเงินงบประมาณ
  • รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน รัฐบาลได้กำหนดไว้ จำนวน 195,397.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.3 ของวงเงินงบประมาณ
  • รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ รัฐบาลได้กำหนดไว้ จำนวน 297,631.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.6 ของวงเงินงบประมาณ
  • รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รัฐบาลได้กำหนดไว้ จำนวน 596.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.02 ของวงเงินงบประมาณ
  • รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย รัฐบาลได้กำหนดไว้ จำนวน 24,978.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของวงเงินงบประมาณ

2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งมีรายละเอียดการดำเนินงานที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3.87 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.5

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3.38 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 10.9

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น  5.48 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.7               

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 7.33 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.7

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1.19 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.9 

ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5.59 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.0

รายการค่าดำเนินการภาครัฐ

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 412,706.7  ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.3 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ  ชดใช้เงินคงคลัง และชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย

รายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 89,500.0 ล้านบาท  เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ รวมทั้งชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 297,631.4 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000.0 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 197,631.4 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังและการเงินรวมทั้งการรักษาวินัยทางการคลัง

รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596.7 ล้านบาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว ตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 24,978.6 ล้านบาท  เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินทุนสำรองจ่ายที่ได้จ่ายไปแล้วตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 45

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวเน้นย้ำต่อรัฐสภาโดยยืนยันว่า รัฐบาลได้กลั่นกรองการใช้งบประมาณอย่างรอบคอบและจะเข้มงวด กวดขันป้องกันทุจริตการใช้งบประมาณ พร้อมเปิดทางให้องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ รวมถึงประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลเข้ามาได้ ยืนยันว่า จะใช้งบประมาณอย่างสร้างสรรค์ ให้เกิดความโปร่งใส เพื่อประชาชนและอนาคตของคนรุ่นหลัง

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง