ซูเปอร์โพล เผย งบหนุนSMEs รายย่อย ช่วยจ้างงานเพิ่มขึ้น

07 ส.ค. 2564 | 02:34 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2564 | 09:48 น.

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจภาคสนาม "ผลประเมินโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย" พบผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 91.8 % ระบุเงินกู้ช่วยผู้ประกอบการรักษาการจ้างงานได้เท่าเดิมถึงเพิ่มขึ้น ขณะที่ 8.2 % ระบุว่าการจ้างงานลดลง

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เพื่อประเมินโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ที่เปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 – 31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย เป็นโครงการของ สสว. ซึ่งดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยซึ่งเป็นสมาชิกของ สสว. ที่ประสบปัญหาทางการเงินให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ คือ  (1) เพื่อเสริมสภาพคล่อง สร้างรายได้  (2) เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพการผลิตหรือการให้บริการ 

 

และ (3) เพื่อรักษาการจ้างแรงงานในภาวะวิกฤติ ทั้งนี้ ในการอำนวยสินเชื่อดังกล่าว สสว. ได้มอบหมายให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่ง ภาพรวมของโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยครั้งนี้ มีจำนวนผู้ยื่นขอกู้ทั้งสิ้น 7,142 ราย วงเงิน 8,107 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้จำนวน 2,285 ราย วงเงิน 3,676.30 ล้านบาท 

 

ในการประเมินผลการดำเนินงานโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ได้สำรวจผู้ประกอบการที่ได้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,181 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5 – 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยเป็นการวิจัยทั้งเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน
ว่าเป็นไปตามเป้าหมายสำคัญ 3 ประการข้างต้น มากน้อยเพียงใด

 ในประเด็นแรก  การประเมินเป้าหมายของการเสริมสภาพคล่องและเพิ่มรายได้ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 ระบุว่าเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติมีผลต่อกิจการโดยทำให้รายได้ดีขึ้น  ผู้ประกอบการร้อยละ 26.2 ระบุว่าเงินกู้ทำให้รายได้ดีขึ้นค่อนข้างน้อย ในขณะที่ ผู้ประกอบการร้อยละ 14.5 ระบุเงินกู้ที่ได้รับมีผลต่อกิจการโดยทำให้รายได้ดีขึ้นมาก เมื่อสอบถามว่า เงินกู้ที่ได้รับส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวต่อปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด พบว่าผู้ประกอบการร้อยละ 73.5 ระบุประโยชน์ที่ได้รับจากการได้รับอนุมัติเงินกู้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ร้อยละ 16.5 ระบุ เหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 10.0 ระบุ แย่ลง

 

ในประเด็นที่ 2 การสำรวจว่าผู้ประกอบการนำเงินกู้ไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตหรือการบริการในด้านใดบ้าง พบว่า ผู้ประกอบการส่วนมากหรือร้อยละ 49.0 ระบุว่านำเงินกู้ไปใช้จัดหาวัสดุ/อุปกรณ์  ร้อยละ 43.5 ระบุว่านำเงินไปลงทุนการผลิต  ร้อยละ 34.1 ระบุว่านำเงินไปเพิ่มการจ้างงาน ร้อยละ 26.5 ระบุนำเงินไปใช้พัฒนาแรงงาน และร้อยละ 23.1 ระบุนำเงินไปเสริมเทคโนโลยีใหม่ 

 

ที่น่าพิจารณา คือ จากการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการระหว่างก่อนการได้รับเงินกู้และภายหลังจากการได้รับเงินกู้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.7 ระบุประสิทธิภาพในการผลิตหรือการบริการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.6 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 6.7 ระบุลดลง    ในประเด็นที่ 3 การประเมินว่าเงินกู้ที่ได้รับจากโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ช่วยรักษาการจ้างงานได้หรือไม่ อย่างไร พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.8 ระบุว่าการได้รับเงินกู้ทำให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาการจ้างงานได้เท่าเดิมถึงเพิ่มขึ้น ขณะที่ ร้อยละ 8.2 ระบุว่าการจ้างงานลดลง 

ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยสามารถบรรลุเป้าหมาย ในการช่วยรักษาสถานภาพการประกอบการ แม้โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด -19 ระลอก 3 ซึ่งขณะนั้นไม่มีผู้ใดคาดเดาได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 จะรุนแรง  ดังเช่นที่เกิดอยู่ในขณะที่ทำการสำรวจ แต่ผลการสำรวจเพื่อประเมินผลการดำเนินโครงการ ฯ พบว่า แม้ผู้ที่ได้รับอนุมัติเงินกู้ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพหรือสร้างรายได้ตามที่ตั้งความหวังไว้ แต่ก็ยังได้ใช้เงินกู้เป็นทุนหมุนเวียนและสามารถรักษาการจ้างงานได้ระดับหนึ่ง 

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของนโยบายการอำนวยสินเชื่อเพื่อสนับสนุน SMEs รายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินเชื่อสำหรับวิสาหกิจรายย่อย (micro enterprise) ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 85 ของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. ในการนี้ มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่าควรมีการกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของโครงการให้ชัดเจนสำหรับผู้ประกอบแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะสำหรับวิสาหกิจรายย่อยที่อาจมีความเปราะบางกว่าผู้ประกอบการกลุ่มอื่นๆ

ตารางที่ 1 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ จำนวนเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติเงินกู้ มีผลต่อกิจการด้านรายได้

ลำดับที่

จำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติกู้ มีผลต่อรายได้

ร้อยละ

1

ดีขึ้นมาก

14.5

2

ดีขึ้น

59.3

3

ดีขึ้นค่อนข้างน้อย  

26.2

 

รวมทั้งสิ้น

100.0

 

ตารางที่ 2 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประโยชน์ที่ได้รับการอนุมัติเงินกู้มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวอย่างไร 

ลำดับที่

ประโยชน์ที่ได้รับจากการได้รับอนุมัติเงินกู้

ร้อยละ

1

ดีขึ้น

73.5

2

เหมือนเดิม  

16.5

3

แย่ลง

10.0

 

รวมทั้งสิ้น

100.0

 

 

 

ตารางที่ 3 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ หลังจากการอนุมัติเงินกู้ ได้นำเงินไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องใด

(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่

เพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องใด

ร้อยละ

1

วัสดุ/อุปกรณ์

49.0

2

ลงทุนการผลิต

43.5

3

เพิ่มการจ้างงาน

34.1

4

พัฒนาแรงงาน

26.5

5

เสริมเทคโนโลยีใหม่

23.1

 

ตารางที่ 4 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประสิทธิภาพในการผลิต / การบริการ

ลำดับที่

ประสิทธิภาพในการผลิต / การบริการ

ก่อนการได้รับอนุมัติเงินกู้

หลังจากการได้รับอนุมัติเงินกู้

1

เพิ่มขึ้น

16.9

73.7

2

เท่าเดิม

69.4

19.6

3

ลดลง

13.7

6.7

 

รวมทั้งสิ้น

100.0

100.0

 

ตารางที่ 5 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สามารถรักษาการจ้างงานของสถานประกอบการ

ลำดับที่

ความสามารถรักษาการจ้างงาน

ร้อยละ

1

การจ้างงานได้เท่าเดิมถึงเพิ่มขึ้น

91.8

2

การจ้างงานลดลง

8.2

 

รวมทั้งสิ้น

100.0

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) โทร 02.051.5928 โทร 064.224.2646   www.superpollthailand.net