วันที่ 7 สิงหาคม 2564 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวน 6 องค์กร หรือ 6 องค์กรสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
ได้ออกแถลงการณ์ร่วม หลังจากเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29
โดยแถลงการณ์ร่วม 6 องค์กรสื่อระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีที่กลุ่มสื่อมวลชนและภาคประชาชน ได้ยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ศาลเพิกถอนข้อกําหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ซึ่งมีเนื้อหาที่ส่อว่าเป็นการให้อำนาจรัฐปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างร้ายแรง
พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้ศาลสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวจนกว่าจะมีคำพิพากษานั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งห้ามนายกรัฐมนตรีใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยศาลชี้ว่า การห้ามเผยแพร่ข่าวที่อาจสร้างความหวาดกลัวมีความคลุมเครือ ไม่มีมาตรการที่ชัดเจน อาจทำให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อีกทั้งข้อกำหนดที่นายกฯ ออกมานั้น ยังเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและการใช้อำนาจระงับการบริการ
อินเทอร์เน็ตก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะกระทบการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน รายละเอียดดังเอกสารข่าวที่ศาลแพ่งเผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้ว
6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ตามรายนามท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลแพ่งอย่างเคร่งครัด และนำเอาความเห็นดังกล่าวของศาลแพ่งไปพิจารณาทบทวนมาตรการอื่น ๆ ของรัฐบาลที่อาจจะกระทบต่อเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนยังขอย้ำในจุดยืนเดิมที่ได้เคยเรียกร้องต่อรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ รัฐบาลต้องยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27)
รวมทั้งข้อกำหนดฉบับที่ 29 (ทั้งฉบับ) โดยไม่ชักช้า เนื่องจากข้อกำหนดทั้ง 2 ฉบับ มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนอย่างชัดเจนดังที่เคยเรียกร้องไปแล้ว
ท้ายที่สุดนี้ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอสนับสนุนการใช้สิทธิ์โดยชอบตามกฎหมายของกลุ่มสื่อมวลชนและภาคประชาชนในการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งดังกล่าว พร้อมเป็นกำลังใจให้กับสื่อมวลชนทุกแขนงที่ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัดเพื่อนำข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วนรอบด้านมาเสนอแก่ประชาชน
รวมทั้งสะท้อนปัญหาความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์วิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันแก้ไขและนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด