“วิโรจน์”อัด“นายกฯ-อนุทิน”แผนจัดหาวัคซีนโควิดลวงโลก

01 ก.ย. 2564 | 12:35 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2564 | 19:42 น.

​​​​​​​“วิโรจน์”อภิปรายไม่ไว้วางใจ อัด“นายกฯ-อนุทิน”แผนจัดหาวัคซีนโควิด-19 ล้มเหลว ลวงโลก จับตา ก.ค.-พ.ย. ได้วัคซีน 10 ล้านโดสหรือไม่

วันนี้(1 ก.ย.64) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรเป็นรายบุคคล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เริ่มอภิปรายด้วยการเปิดคลิปวิดีโอที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พูดว่าในไตรมาส 3 วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะมีเต็มโรงพยาบาล เต็มแขนคนไทย เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ มีวัคซีน 63 ล้านโดส ไม่พอเก็บ

 

ตนเคยเตือนการกระจายความเสี่ยงวัคซีนเมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวก่อน เมื่อ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา วันนั้นคนระดับรัฐมนตรียืนยันแล้ว ผมก็เบาใจ ไม่เคยคิดว่าคนระดับรัฐมนตรีจะกล้าโกหกกลางสภา คิดว่ามีการทำสัญญา จองซื้อ หรือลงนามกันแล้ว แต่ปรากฏว่า หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านเพียง 2 เดือน ถึงเพิ่งจะมามีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้สัญญา เมื่อวันที่ 23 ก.พ.64 แก้จากจำนวน 23 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส

 

ต่อมาวันที่ 24 ก.พ.64 นายอนุทิน บอกไทยมีวัคซีนโควิดมากสุดในเอเชีย ถ้านับเป็นอัตราส่วนประชากร ไทยไม่แพ้ใครในโลกนี้ รัฐมนตรีพูดแบบนี้ เป็นใครคงคิดว่าได้ลงนาม ระหว่างคู่สัญญา คือ รัฐบาลไทยกับแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ไม่มีใครกล้าคิดว่า จะมีแผนจัดหาวัคซีนลวงโลก ภายใต้การบริหารงาน และคบคิดกัน ของนายกฯ และนายอนุทิน

จากการค้นข้อมูลการเบิกจ่ายเมื่อวันที่ 20 ก.ค.64 ทำให้รู้ความจริงว่า แผนงาน และโครงการเพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ป้องกันวัคซีนโควิด และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ที่มีวงเงินอนุมัติสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายไปได้แค่ 1,081 ล้านบาท เบิกจ่ายได้แค่ 7% แผนงานโครงการด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินมีวงเงินอนุมัติไป 1,727 ล้านบาท เบิกไปได้เพียง 156 ล้านบาท คิดเป็น 9%

 

การขาดความพร้อมแบบนี้ เป็นหลักฐานชี้ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ปล่อยปละละเลย จนขาดความพร้อมดูแลรักษาชีวิตประชาชน จะอ้างไม่มีงบ และติดระเบียบจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ เพราะตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.64 ครม.มอบอำนาจตามพ.ร.บ.ทั้ง 31 ฉบับ ให้กับนายกฯ แล้ว อะไรติดขัดก็เข้าไปแทรกได้ แต่ไม่ทำ ถ้ารัฐบาลเตรียมความพร้อมดีกว่านี้ ประชาชนไม่ตายมากขนาดนี้ และต่อให้ต้องเสียชีวิตจากความอันตรายของโรค แต่ก็ไม่ต้องเสียชีวิตด้วยความน่าเศร้าสลดอนาถขนาดนี้ หนี้ชีวิตที่ไม่ควรตายเหล่านี้ นายกฯ และนายอนุทินจะชดใช้อย่างไร

 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ปัญหาการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนที่มีระบบลงทะเบียนเต็มไปหมด จนเกิดการแซวกันว่าวัคซีนมีน้อยแต่ร้อยแอบพลิเคชั่น การจัดสรรวัคซีนจึงซ้ำซ้อนมั่วไปหมด ที่ผ่านมาตนต้องเชื่อใจ นายอนุทิน เพราะ นายอนุทิน ไม่เคยมีท่าทีกังวลใจเลยว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะจัดส่งไม่ได้ตามแผน 61 ล้านโดส

 

แต่ต่อมาวันที่ 3 มิ.ย. ปรากฎว่าหลายโรงพยาบาลประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนให้รอการนัดหมายใหม่ หลังจากนั้นการฉีดวัคซีนยังเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นเพิ่งจะลงตัวได้ไม่นาน ถ้าเรื่องนี้นายอนุทินไม่ผิด คนที่ต้องรับก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเป็นคนสั่งการให้ยกเลิกการลงทะเบียนในระบบหมอพร้อม

เรื่องสัญญาจัดหาวัคซีนตนติดตามมาตลอด เมื่อวันที่ 16 มี.ค.64 ได้ยื่นขอสัญญาจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ต่อกรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทั่งวันที่ 4 มิ.ย.64 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ส่งสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าฯมาให้ตน 26 ล้านโดส ที่ลงนามเมื่อวันที่ 12 ม.ค.64 ซึ่งตนเกิดคำถามว่าสั่งซื้อไป 61 ล้านโดส จำนวนที่เหลือไปไหน และแล้วแผนการจัดหาวัคซีนลวงโลกของพล.อ.ประยุทธ์ ก็เริ่มโผล่เค้าลางแห่งความหายนะเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.64 เมื่ออธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่าตัวเลข 61 ล้านโดส ในแผนการจัดหาวัคซีนเป็นแค่ศักยภาพในการฉีด ไม่ใช่จำนวนวัคซีนแอสตร้าฯ ที่ต้องส่งมอบ

 

จากนั้น นายอนุทิน ได้ให้สัมภาษณ์โดยไม่ได้ให้ความมั่นใจเลยว่า ในไตรมาสที่ 3 ช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย.64 จะมีวัคซีนเต็มแขนประชาชนแบบที่เคยพูดกลางสภา ประชาชนจึงจับตาดูว่าเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนแอสตร้าฯ ส่งมอบตามแผน 6.3 ล้านโดสหรือไม่ เดือน ก.ค. จะมี 10 ล้านโดสหรือไม่ แผนการจัดหาวัคซีนแสตร้าฯ 61 ล้านโดส จะเป็นแผนจริงหรือลวงโลก

 

ทั้งนี้ คนที่ต้องรับที่สุดไม่ใช่ นายอนุทิน แต่เป็น พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะโยนผิดให้พ้นตัว ให้ นายอนุทิน รับผิดคนเดียวไม่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดถึงคำมั่นในแผนการจัดหาวัคซีนลวงโลก 61 ล้านโดสมาตลอดเช่นกัน

 

ในที่สุดวันที่ 2 ก.ค.64 ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า แอสตร้าฯ น่าจะส่งมอบวัควีนให้รัฐบาลได้เพียงเดือนละ 5-6 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งยืนยันว่าไม่เป็นไปตามแผนจัดหาวัคซีน 61 ล้านโดส ที่เดือน ก.ค.-พ.ย.64 ต้องได้เดือนละ 10 ล้านโดส และยังชี้แจงด้วยว่าในสัญญาแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส ไม่ได้ระบุว่าจะต้องส่งมอบเดือนละเท่าไหร่ ทำให้ประชาชนอุทานว่าแล้วที่ผ่านมารัฐบาลกล้าโหมประชาสัมพันธ์ การจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส ได้อย่างไร

 

ที่ผ่านมาตนไม่เคยเชื่อว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่เคยระบุการส่งมอบวัคซีนในแต่ละเดือนไว้เลย เพราะต้องมีตารางประมาณการส่งยอด แต่สุดท้ายเอกสารสัญญาที่ตนได้รับมาอีกชุด กลับไม่พบตารางประมาณการส่งยอดอะไรเลย มาถึงจุดนี้ตนยอมรับแล้วว่า สัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำเอาไว้ไม่ได้มีการระบุประมาณการส่งมอบแต่ละเดือนเอาไว้จริงๆ ก็ต้องถามว่าทำสัญญาแบบนี้ได้อย่างไร

 

ที่สำคัญ นายอนุทิน เพิ่งจะมีหนังสือขอวัคซีนจากแอสตร้าฯ เดือนละ 10 ล้านโดส ลงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ และยอดวัคซีนที่เขาส่งมอบในตอนนี้ เป็นยอดเกือบ 2 เท่าที่รัฐบาลเคยประเมินความต้องการให้กับเขา ทั้งนี้ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เคยได้อธิบายโอกาสในการได้รับวัคซีนจากการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ แต่สุดท้ายพล.อ.ประยุทธ์ก็ปฏิเสธการเข้าร่วม ทำให้คนไทยต้องเสียโอกาสในการปกป้องชีวิตตนเอง

 

ต่อมาวันที่ 18 ก.ค.64 จากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่าแอสตร้าฯ จำนวน 35 ล้านโดส คู่สัญญาคือแอสตร้าเซนเนก้า เพิ่งจะลงนามเมื่อวันที่ 4 พ.ค.64 ผมจึงเข้าใจว่าเหตุใดจึงส่งสัญญาให้ผมเพียงฉบับเดียว คือสัญญา 26 ล้านโดส ที่ลงนามเมื่อวันที่ 12 ม.ค.64 เพราะถ้าส่งสัญญาอีกฉบับ 35 ล้านโดส จะโป๊ะแตก เพราะประชาชนจะรู้ว่าเพิ่งเซ็นสัญญากันครบถ้วน เมื่อวันที่ 4 พ.ค.นี้

 

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล้าโหมประชาสัมพันธ์ให้คำมั่นกับประชาชนในแผนการจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส ได้อย่างไร ทั้งที่ยังไม่ได้มีการลงนามครบถ้วนจากคู่สัญญา นี่คือการโกหกหลอกลวงประชาชนของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีผู้ร่วมกระทำการคือ นายอนุทิน หรือไม่ ซึ่งสัญญาแผนการจัดหาวัคซีนลวงโลก 61 ล้านโดส ที่ไม่มาตามแผนสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตประชาชนอย่างมาก

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากหนังสือจากคณะกรรมการกันกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่ นร 1106/(คกง.) 207 ลงวันที่ 24 ส.ค.63 ระบุชัดว่าหากใช้เงินกู้อุดหนุนบริษัทเอกชน ซึ่งในที่นี้คือบริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ ในการผลิตวัคซีนชนิดไวรัล เวกเตอร์ ต้องมีเงื่อนไขจำกัดสิทธิการส่งออกเพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิ์ในการซื้อวัคซีนที่ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนที่ต้องการ

 

ถ้านำเงินกู้ไปอุดหนุนก็ต้องรับกับเงื่อนไขนี้ สุดท้ายประชาชนอยากรู้ว่านำเงินกู้หรือนำเงินส่วนไหนไปอุดหนุน เมื่อวันที่ 25 ส.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจอนุมัติงบกลาง ในวงเงิน 600 ล้านบาท ไปอุดหนุนให้กับบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ โดยไม่นำเงินกู้ไปอุดหนุน เพราะหากใช้เงินกู้ก็ต้องรับกับเงื่อนไขจำกัดการส่งออก

 

จากนั้น นายอนุทินก็รับไม้ต่อ ไปลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงในการทำสัญญา โดยยอมรับข้อตกลงกับทางแอสตร้าฯ ให้ส่งออกโดยปราศจากข้อจำกัด เมื่อเป็นเช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ และ นายอนุทิน จึงไม่กล้าบังคับใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีน เพื่อจำกัดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์

 

“พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน มีเจตนาเอาชีวิตของประชาชนทั้งประเทศไปเสี่ยงเดิมพันกับแอสตร้าฯ ที่ผลิตโดยบริษัทเอกชน ต่อให้มีปัญหาเกิดขึ้นก็จะสั่งซื้อวัคซีนที่สามารถสั่งซื้อได้เร็ว มาฉีดแก้ขัดไปก่อน กีดกันวัคซีนยี่ห้ออื่น ไม่ยอมซื้อวัคซีนไฟเซอร์มาสำรองไว้ตั้งแต่แรก ไม่ยอมให้วัคซีนยี่ห้ออื่นมาตัดหน้า แย่งซีนวัคซีนที่ตัวเองตั้งธงเอาไว้ จนการระบาดเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และก็ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการโคแว็กซ์ โดยอ้างว่า ไม่อยากซื้อวัคซีนในราคาแพง

 

ผมไม่พูดถึงเรื่องราคา เพราะต่อให้วัคซีนแพงแค่ไหน ก็ไม่มีทางแพงกว่าชีวิตของประชาชน ไม่มีทางแพงกว่าเงินเยียวยาที่รัฐบาลต้องจ่าย และไม่มีทางแพงกว่าความย่อยยับทางเศรษฐกิจ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบที่ไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ จนไม่มีวัคซีนให้ประชาชนที่เพียงพอ จะโยนบาปให้ข้าราชการไม่ได้”

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิปรายของ นายวิโรจน์ บรรยากาศค่อนข้างวุ่นวายไม่ราบรื่น เนื่องจากส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ทั้ง นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ นายรังสิกร ทิมาตฤกะ ส.ส.บุรีรัมย์ รวมถึงส.ส.พรรคก้าวไกล เช่น นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังประชารัฐ อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ลุกขึ้นประท้วงขัดจังหวะอยู่ตลอดเวลา โดยระบุว่า นายวิโรจน์ อภิปรายใส่ร้ายป้ายสีหลายครั้ง ทำให้นายวิโรจน์ กล่าวกับประธานในที่ประชุมว่า “ประธานต้องหากำมะถันมาโรยไว้เพราะงูเพ่นพ่านเหลือเกิน”