วันนี้ (17 ก.ย.64) ที่อาคารรัฐสภา นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ และ นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่งานสารบรรณถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบไม้ปูพื้นโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปูพื้นไม้ว่า เป็นไม้ตะเคียนทองทั้งหมดตามที่ระบุไว้ในสัญญาจริงหรือไม่ หรือเป็นไม้ตะเคียนทองผสมไม้ชนิดอื่นหรือไม่ ไม้มีขนาดความกว้างและความหนาถูกต้องตามแบบหรือไม่
ที่สำคัญประเทศไทยประกาศปิดป่าตั้งแต่ปี 2532 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไม่มีโครงการปลูกป่าไม้ตะเคียนทอง ฉะนั้นไม้ตะเคียนทองที่ใช้ในโครงการน่าจะเป็นไม้ที่เหลือจากปีพ.ศ. 2532 มีไม้ใหม่น้อยมาก หรืออาจนำเข้าจากต่างประเทศ จึงขอให้ตรวจสอบให้ชัดเจน ถ้าเป็นไม้นำเข้าขอให้ตรวจสอบว่านำเข้าจากประเทศใด และขอใบกำกับภาษีว่ามีการนำเข้าจริง เป็นไม้ตะเคียนทองจริง แต่จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญเรื่องไม้ทราบว่าไม้ตะเคียนทองมีอยู่ในประเทศกัมพูชา ลาวและเมียนมา ประเทศอื่นอาจมีแต่น้อยมาก
ขณะเดียวกัน นายวิลาศ ยังยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสภาฯ อีก 1 ฉบับให้ตรวจสอบหินทราโวทีนนอกจริงหรือไม่ โดยสามารถตรวจจากใบกำกับภาษีการนำเข้าสินค้าจากกรมศุลกากร ทั้งนี้เพราะจากการเอาเศษหินที่บริเวณก่อสร้างให้นักธรณีดู มีข้อสงสัยว่าอาจเป็นหินอ่อนสุโขทัย แต่มีบางท่านบอกว่าเป็นหินแกรนิตสีชมพูซึ่งพบที่ อ.หนองบัวจ.นครสวรรค์ จึงขอให้นำนักธรณีวิทยามาตรวจสอบข้อเท็จจริง และตามแบบในสัญญาหินทราโวทีนนอกมีขนาด 50 x 100 ซม. หนา 25 ม.ม. เห็นว่าการเปลี่ยนแบบโดยลดความหนาลงเหลือ หนา 20 ม.ม. จะทำให้การรับน้ำหนักและความคงทนลดลงมาก
เพราะมีขนาดใหญ่พิเศษ และหากมีการชำรุดหรือแตกในอนาคตจะหาวัสดุมาทดแทนยากลำบาก จึงขอทราบว่ามีการแก้ไขสัญญาเรื่องความหนาของหินแล้วหรือไม่ เพราะมีการก่อสร้างแล้วเสร็จไปหลายจุดแล้ว จากการสอบถามนักวิชาการ กรมทรัพยากรธรณีให้ข้อมูลว่าหินความหนา 20 ม.ม. และ 25 ม.ม. ราคาต่างกันเกือบเท่าตัว จึงขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย ทั้งนี้เพราะชนิดความหนา 25 ม.ม. เป็นความหนาพิเศษ ราคาจึงสูง และถ้ามีการแก้ไขสัญญาจริง มีคำถามว่าเป็นประโยชน์อะไรกับประเทศหรือส่วนรวม มีการทำผิด กฎหมายหรือไม่อย่างไร