โครงการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กรมธนารักษ์ คัดเลือกผู้ชนะการประมูลเป็นเอกชนรายใหม่ หลังจากที่ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EAST WATER (อิสท์ วอเตอร์) ผู้ได้รับสัมปทานรายเดิม จะสิ้นสุดระยะเวลาสัญญาวันที่ 31 ธ.ค. 67 ทำให้อิสท์ วอเตอร์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ ของกรมธนารักษ์ ต่อศาลปกครองกลาง และนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ บอกว่า การประมูลครั้งนี้มีข้อพิรุธที่การยกเลิกและคัดเลือกเอกชนรายใหม่ ซึ่งให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่น้อยกว่าบริษัท อิสท์ วอเตอร์ จึงเป็นข้อพิรุธ ที่สลับซับซ้อน และต้องการให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจเอกชน และเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของรัฐ เรื่องที่มีการสิ้นสุดสัญญากิจการขนส่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ขนส่งน้ำผ่านระบบท่อเพื่อไปบริการให้กับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกหลายแห่งตั้งแต่ชลบุรี ระยอง
ประเด็นคือโครงการนี้รัฐบาลได้ให้เอกชนทำมาเกือบ 30 ปี และจะหมดอายุสัญญาสัปทานในปี 2565-2566 เมื่อจะหมดอายุสัญญาในปีหน้าปรากฏว่าทางราชการโดยเจ้าของพื้นที่คือกรมธนารักษ์ เปิดประมูลใหม่ มีเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมประมูล 2-3 บริษัท รวมทั้งรายเดิมก็คือ บริษัท อิสท์ วอเตอร์
การเปิดประมูลครั้งนี้ ปรากฏว่ารอบแรก อิสท์ วอเตอร์ ก็ชนะประมูลอีกเช่นเดิม เพราะให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่อรัฐค่อนข้างสูงกว่า แต่เป็นที่น่าแปลกใจที่กรมธนารักษ์ บอกว่า ไม่พอใจ ก็เลยยกเลิกประมูล แล้วเปิดประมูลใหม่ ปรากฏว่าครั้งหลัง อิสท์ วอเตอร์ ไม่ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะ แต่มีเอกชนอีกรายหนึ่ง
เท่าที่ทราบมีการเตรียมบริษัทนี้กันของหลายๆ คน ของผู้มีอำนาจ เรื่องนี้ทางบริษัทที่เขาเคยชนะประมูลก็คือ อิสท์ วอเตอร์ ก็นำเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาลปกครอง ขณะนี้เรื่องอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง แต่ว่าเรื่องนี้ทางกรมธนารักษ์ ก็หยุดเรื่องนี้ไว้ก่อน รอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา เป็นที่ถูกต้อง
“ผมเรียนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีข้อพิรุธ เมื่อธนารักษ์ เปิดประมูลแล้วมีเอกชนเข้ามาเสนอราคาประมูลถูกต้อง แล้วก็ให้ผลประโยชน์ต่อภาครัฐค่อนข้างจะสูง แล้วทำไมมีการยกเลิกการประมูล แล้วก็ไปเปิดประมูลใหม่ แล้วก็ได้บริษัทใหม่เข้ามา พอบริษัทใหม่ที่เข้ามาเป็นไปตามที่ตนเองต้องการ แล้วผลประโยชน์ที่จะกลับคืนให้กับภาครัฐ เมื่อเทียบกับบริษัท อิสท์ วอเตอร์ กลับน้อยกว่า ก็เป็นเรื่องที่มีข้อพิรุธ สลับซับซ้อน ก็เลยจำเป็นที่จะต้องไปยื่นให้ ป.ป.ช. ได้ทำการไต่สวนสอบสวน ว่ากรณีนี้มีการเอื้อประโยชน์กันหรือมีการทุจริตกันหรือไม่”
ส่วนหลักฐานที่จะยื่น ป.ป.ช. นายศรีสุวรรณ ระบุว่า หลักฐานมีแล้ว อยู่ใน TOR การประมูลทั้งหมด แล้วก็การประกาศเสนอราคาของคู่ต่อสู้ผู้ที่เสนอราคา ทั้งอิสท์ วอเตอร์ ทั้งรายอีก 2 ราย เพื่อเปรียบเทียบราคากัน เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าใครเป็นให้ผลประโยชน์กับรัฐมากกว่ากัน
“ในสัญญาทุกสัญญา TOR ปกติจะเขียนไว้ในข้อหนึ่งว่าคณะกรรมการมีอำนาจในการที่จะยกเลิกการเปิดประมูลนั้นได้ แต่อยู่ๆ จะมายกเลิกมันต้องมีเหตุผลอธิบายมากพอสมควร ประเด็นสัญญาที่เขายกเลิกคือเรื่องของความชำนาญ หรือประสบการณ์ในการที่จะทำโครงการนี้ให้สำเร็จ ผมก็แปลกใจว่าโครงการนี้ อิสท์ วอเตอร์ ทำมาแล้ว 30 ปี แล้วพอมาเปิดประมูลรอบใหม่ กลับมาอ้างว่าบริษัทเดิมอาจจะไม่มีความรู้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการนี้ได้ มันก็เป็นเรื่องพิรุธแล้วก็แปลกพอสมควร เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่ อิสท์ วอเตอร์ ที่เป็นบริษัทเดิมได้ดำเนินการอยู่แล้ว มีประสบการณ์อยู่แล้ว ดังนั้น จะมาอ้างว่าอาจจะไม่มีประสบการณ์มากเพียงพอที่จะผลักดันหรือดำเนินโครงการนี้ได้ เป็นเรื่องที่ผิดปกติ”
ถามว่าหลักฐานแน่นหนามากแค่ไหน นายศรีสุวรรณ ชี้แจงว่า หลักฐานแน่นหนามากพอสมควร เรามีความเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้ ป.ป.ช.น่าจะสามารถดำเนินการไต่สวน สอบสวนได้อย่างรวดเร็วในการที่จะพิจารณาเอาผิดบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ทั้งกรมธนารักษ์ บุคคลซึ่งกรมธนารักษ์ แต่งตั้งให้มาเป็นคณะกรรมการจัดการประมูลโครงการนี้ ตามความผิดพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประกอบ พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายฮั้ว โดยมีโทษสูง มีทั้งโทษปรับ และโทษจำ คร่าวๆ อาจไม่ต่ำกว่า 10 ปี
ด้านนายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้สัมภาษณ์ กรณีนายศรีสุวรรณ จะยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่า ไม่ทราบว่ายื่นให้ตรวจสอบในประเด็นใด ต้องรอให้ยื่นก่อน เรามีหน้าที่ทำคำชี้แจงข้อเท็จจริง ความจริงส่วนตัวเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่หลังการประมูลจบสิ้นไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการยื่นป.ป.ช.มีผลทำให้การเซ็นสัญญากับเอกชนรายใหม่หรือไม่ อธิบดีกรมธนารักษ์ บอกว่า ยังไม่ทราบว่าเรื่องที่ยื่นป.ป.ช.มีมูลตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แต่ถ้าเป็นตามที่กล่าวอ้างก็มีผล แต่มีคดีความอยู่ในศาลปกครองแล้ว เราถือศาลเป็นหลัก คำตัดสินศาลปกครอง คือจุดสำคัญที่สุด ศาลตัดสินออกมาอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น
เมื่อถามว่าเรื่องเกิดก่อนมาเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ แต่ต้องมาตามแก้ปัญหา นายประภาศ กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารองค์กร มีหน้าที่แก้ปัญหาให้องค์กร