วุฒิสภาแนะพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้มุ่งอุตสาหกรรมเกษตร-โลจิสติกส์-ท่องเที่ยว

15 ธ.ค. 2564 | 05:07 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2564 | 12:13 น.

กมธ.การแก้ปัญหาความยากจนฯ วุฒิสภา แนะทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ มุ่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการเกษตร - โลจิสติกส์ - ท่องเที่ยว

คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โดย นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย นายอำพล จินดาวัฒนะ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง นายพลเดช ปิ่นประทีป รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ รองประธาน คณะกรรมาธิการ คนที่สี่ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ห้า และนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการ ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง "ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Coridor : SEC) 

 

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่าคณะกรรมาธิการมีความกังวลใจในข้อขัดแย้งบางประการที่เกิดขึ้นในภาคใต้ จึงเสนอแนวทางที่จะคลี่คลายและหาทางที่จะทำให้ปัญหาจบลงได้

โดยเห็นว่า จังหวัดในภาคใต้จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและโครงการทางเศรษฐกิจอย่างจริงจังตามทิศทางของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่มุ่งเน้นไปใน 3 ด้าน ซึ่งจะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน คือ

 

1. ด้านอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการผลิตสินค้าเกษตรขั้นปฐมอันเป็นปัจจัยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมหนักที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น

2. ด้านระบบโลจิสติกส์ ทั้งทางถนน ทางราง ทางเรือ และทางอากาศ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่การขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยว

 

3. ด้านการท่องเที่ยว ทั้งที่พักแรมและร้านอาหาร และคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากมีเม็ดเงินหมุนเวียน และเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ที่ทั่วโลกยึดเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นความสมดุล ใน 3 มิติ ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 

 

ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ให้มีการจ้างงาน และ ยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง

 

นอกจากนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ 

 

ดังนั้น การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) จะเป็นส่วนสนับสนุนซึ่งกันและกันกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อันจะช่วยทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมขยายตัวอย่างทั่วถึงและยั่งยืนต่อไป

 

ทั้งนี้ การส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้ ควรเน้นอุตสากหรรมที่ก้าวหน้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตร อุตสาหกรรมชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green
Economy) โดยการดำเนินเศรษฐกิจดังกล่าว จะต้องส่งเสริมให้ประชาชนในภาคใต้ มีอาชีพ มีงานทำ และปลอดจากมลพิษ อันจะเป็นการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

 

ดังนั้น การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้ จะต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง และประชาชนควรจะได้รับสิ่งที่ดีขึ้นจากการพัฒนา ตลอดจนการให้สิทธิแก่ประชาชนได้มีส่วนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง

 

ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมาธิการขอให้รัฐบาลหาแนวทางการแก้ปัญหาให้คลี่คลายด้วยแนวทางที่สันติ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน