ชงศบค.ชุดใหญ่ คลายล็อกดาวน์-ปรับโซนสีโควิด-ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมโควิด

19 ม.ค. 2565 | 06:25 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2565 | 13:34 น.

เลขาสมช. เผย เตรียมเสนอที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ พรุ่งนี้ 20 มกราคม 65 พิจารณามาตรการคลายล็อกดาวน์ การปรับโซนสีโควิด และการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อคุมสถานการณ์โควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันพรุ่งนี้(20 ม.ค.65) จะมีการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศบค. เป็นประธานในการประชุม ซึ่งเบื้องต้นจะมีการพิจารณาปรับโซนสีโควิด หรือ พื้นที่ควบคุมสถานการณ์อีกครั้ง และจะมีการต่ออายุการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ให้สัมภาษณ์วันที่ 19 ม.ค. ถึงการเตรียมการประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันพรุ่งนี้ว่า ในการประชุมศปก. หรือ ศบค.ชุดเล็ก วันนี้ประเด็นแรก จะเป็นการประชุมสรุปและประเมินสถานการณ์ หลังจากช่วงเทศกาลปีใหม่

ประเด็นที่สองจะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ หรือ คลายล็อกดาวน์ เนื่องจากเลขตัวเลขผู้ติดเชื้อทรงตัว และระบบรักษาพยาบาลที่จะรองรับก็เข้าที่เข้าทางมากขึ้น จึงจะประเมินว่าจะผ่อนคลายปรับโซนสีระดับพื้นที่สีของแต่ละจังหวัดอย่างไร เพื่อให้ประชาชนคล่องตัวขึ้น 

โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้า ผอ.ศบค. สั่งการตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังปีใหม่ว่าให้เร่งประเมินข้อมูล เพื่อพิจารณาผ่อนคลายในส่วนที่สามารถทำได้ เพราะห่วงใยประชาชนที่จะประกอบอาชีพและให้คนมีงานทำ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจได้ขับเคลื่อน

รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่จะเป็นหลักในการนำเม็ดเงินเข้าประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ วันนี้จะดูในรายละเอียดเหล่านี้ว่า มีจุดอ่อนตรงไหนและจะต้องปรับในเรื่องของข้อมูลข่าวสารตรงไหนบ้าง รวมถึงระบบควบคุมผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศให้รัดกุมมากขึ้น

สำหรับมาตรการต่างๆ ที่จะออกมา บางส่วนจะเริ่มเลย บางส่วนจะเริ่มในวันที่ 1 ก.พ.นี้ เนื่องจากจะต้องแจ้งเตือนและเตรียมความพร้อม เตรียมการลงทะเบียนต่างๆ โดยในวันนี้ศบค.ชุดเล็กจะพิจารณาไทม์ไลน์ของแต่ละมาตรการ อย่างที่นายกฯจะให้ผ่อนคลายว่าจะเป็นอย่างไร โดยศบค.ศปก.ได้คุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อจะนำเข้าที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 20 ม.ค.

ส่วนการเดินทางเข้าประเทศ โดยระบบ Test & Go จะปรับเงื่อนไขอย่างไร พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า เงื่อนไขที่สำคัญในช่วงระยะ 7 วัน จะหาวิธีควบคุมผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศให้ได้และต้องสามารถติดตามตัวได้ หลังจาก 7 วัน จึงจะถือว่าปลอดภัย โดยสิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเดินทางเข้ามาประเทศไทย คือ ต้องตรวจคัดกรองและจะต้องแจ้งว่าจะไปไหนในช่วง 7 วัน จากนั้นจะต้องคุมไว้สังเกต ไปไหนจะต้องมีข้อมูลดูได้ว่าอยู่ที่ไหน

ซึ่งวันนี้จะหารือถึงมาตรการเพิ่มเติมในส่วนนี้ และจะกำหนดว่าในวันที่ 5-7 วัน ของการอยู่ในประเทศต้องตรวจ RT-PCT ซ้ำ เมื่อปลอดภัยสามารถเดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยได้ โดยรูปแบบใหม่จะไม่มีการกักตัว ยกเว้นแต่ระบบแซนด์บ็อกซ์(Sandbox) กับกรณีกับที่จองโรงแรม 7 วัน ในสถานที่กักตัวทางเลือก

ซึ่งต่างจากเดิมที่เทสแอนด์โก จะตรวจครั้งแรกครั้งเดียวเมื่อเข้ามา แล้วปล่อยตัวให้ท่องเที่ยวได้ และไม่ได้ควบคุมมาก แต่เมื่อมีเชื้อโอมิครอนเข้ามา จึงต้องยกระดับทั้งนี้จะอนุญาตให้ผู้ที่ลงทะเบียนระบบเทสต์แอนด์โกไว้แล้วยังเข้าประเทศได้

ส่วนที่เหลือระงับการลงทะเบียนไว้ ผู้ที่เข้ามาจึงต้องเพิ่มมาตรการให้ได้รับการตรวจ 2 ครั้ง ถือเป็นการควบคุมที่แน่นหนาขึ้น ส่วนจะนำมาตรการมาใช้หรือไม่ใช้นั้น นายกฯ ให้แนวทางว่าให้ประเมินตามสถานการณ์เป็นหลัก โดยมีปัจจัยดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ ข้อมูลพื้นที่ การดำรงชีวิตของประชาชน และความร่วมมือของประชาชนและผู้ประกอบการ ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้ติดตามสถานการณ์และพูดคุยกับนายกฯ อย่างใกล้ชิดก็น่าจะมีข่าวดีในเรื่องนี้

ส่วนกรณีของสถานบันเทิงผับ บาร์ ที่ขอปรับมาเป็นร้านอาหาร ทั้งกรุงเทพมหานคร และจังหวัด จะต้องเข้าไปสำรวจก่อนวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ก็จะทยอยเปิดต่อเนื่อง ซึ่งมอบหมายให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดไปดำเนินการ ดังนั้นผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการในลักษณะผับ บาร์ คาราโอเกะเต็มรูปแบบต้องเข้าใจว่ายังมีความเสี่ยงมาก

หากจะปรับเป็นร้านอาหารต้องทำตามที่เราเปิดช่องให้ คือในรูปแบบร้านอาหาร และต้องแจ้งท้องที่ให้ไปตรวจประเมิน รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่กำหนด

ส่วนในที่ประชุมจะพิจารณาเพิ่มพื้นที่แซนด์บ็อกซ์หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า มีโอกาส และการเพิ่มจะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่นั้นเป็นหลัก 

ส่วนงการเพิ่มพื้นที่สีฟ้า หรือพื้นที่นำร่องเพื่อการท่องเที่ยวที่ชะลอไว้ก่อนหน้านี้ จะพิจารณาเพิ่มพื้นที่หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ศปก.ศบค. ก็จะพิจารณา โดยดูความพร้อมของพื้นที่ ทั้งเรื่องมาตรการสาธารณสุขที่จะรองรับ เนื่องจากบุคคลที่เข้ามาจะเป็นคนใหม่ที่เข้าประเทศเราต้องควบคุมในช่วงเวลา 7 วัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ดังนั้นทุกฝ่ายต้องพร้อม ทั้งคนในพื้นที่ และผู้ประกอบการ นอกจากนี้ จะประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อ ลักษณะการติดเชื้อเทียบกับอัตราส่วนประชากร ที่สำคัญคือสาธารณสุขจังหวัดและท่องเที่ยวจังหวัดต้องการันตีว่ามีความพร้อมที่จะเปิดเป็นแซนด์บ็อกซ์หรือพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ขณะนี้เราอยู่ในระยะที่สองของการฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ระงับเอาไว้ ประมาณ 13 พื้นที่ ส่วนจะเปิดได้ครบพื้นที่หรือไม่ จะต้องพิจารณากันก่อน

ส่วนจังหวัดที่จะปรับพื้นที่โซนสีจะสามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การกำหนดมาตรการในแต่ละพื้นที่ ได้กำหนดเป็นโซนสีไว้ คือ สีแดงเข้ม สีส้ม สีเหลือง และสีเขียว แต่ละพื้นที่จะมีมาตรการ 4 แบบ ซึ่งระบุไว้แล้ว เช่น สีส้ม เมื่อดูตารางที่กำหนด สามารถรู้เลยว่าสามารถทำอะไรในแต่ละกิจกรรม

ซึ่งในพื้นที่สีส้มระบุไม่ให้ดื่มสุราในร้านอาหาร หากเป็นสีเหลืองอนุญาตให้ดื่มสุราในร้านอาหารได้ ถ้าสถานการณ์มีความน่าเป็นห่วง อาจจะมีมาตรการเพิ่ม เช่น แต่ละจังหวัดอาจจะกำหนดเวลาในการดื่มสุราได้ถึง 21.00 น. หรือ 22.00 น. ซึ่งทางจังหวัดสามารถออกมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็นได้

ส่วนการพิจารณาขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ต้องต่อ ทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนเวลาเพราะยังมีความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในหลายกิจการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทั้งเรื่องเดินทางเข้าประเทศ การห้ามคน ส่วนการประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อ ประมาณ 6,000 ราย ซึ่งลดมาจากเดิม 8,000 ราย จึงต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนในการลดระดับ เพื่อให้ตัวเลขอยู่ในระดับที่ปลอดภัยขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้ปกครองบางส่วนเรียกร้องไม่ให้ตรวจ ATK ในเด็กนักเรียน และให้สวมหน้ากากได้ตามความสมัครใจ จะน่ากังวลหรือไม่หากเปิดเรียนเต็มรูปแบบ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทั่วโลกมีตัวเลขติดเชื้อที่สูงในบางประเทศ แต่ตรงนี้ต้องดูศักยภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ และลักษณะสังคม ซึ่งในประเทศไทย ถ้าไม่ช่วยกันใส่หน้ากากอนามัย ฉีดวัคซีน และไม่ช่วยกันตรวจ โอกาสแพร่เชื้อและติดเชื้อจะสูงมาก และจะกระทบระบบสาธารณสุข

รัฐบาลใส่ใจ มี นโยบายดูแลสุขภาพ และระบบสาธารณสุขที่จะดูแลประชาชน ฉะนั้นจะเห็นว่าหากมีการติดเชื้อจะโกลาหล การจัดระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับจึงมีความจำเป็น ถ้าไม่ทำตามมาตรการ ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือไม่ตรวจ ATK หรือไม่กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อความปลอดภัย ก็จะกระทบระบบสาธารณสุข ทั้งผู้ติดเชื้อ โควิด-19 และคนปกติ

เมื่อถามย้ำว่า ข้อเสนอของผู้ปกครองอาจไม่สามารถดำเนินการได้ หรือจะให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจในการตัดสินใจ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการได้รับมาตรการไปจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้พูดคุยกันหลายรอบ และทางสถานศึกษาและโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ ได้พูดคุยกับผู้ปกครอง หากมีข้อเสนอหรือวิธีการ ทางกระทรวงศึกษาธิการสามารถแจ้งมาที่ ศปก.ศบค. เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณา เพื่อที่จะปรับหรือออกเป็นมาตรการ ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการ สามารถคุมแนวทางและมาตรการในภาพรวมได้อยู่แล้ว

เมื่อถามถึง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ ฉบับแก้ไข มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งดำเนินการ แต่ยังไม่ทราบระยะเวลาที่จะพิจารณา หากร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จ ก็สามารถนำมาใช้แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดู จังหวะและเวลาที่เหมาะสม