กรมราชทัณฑ์ เตรียมความพร้อมหลักสูตรอบรมผู้ต้องขัง ก่อนเข้าร่วมโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ในปี 2565 แก้ปัญหานักโทษล้นคุก ติดอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย อันดับ 1 ของอาเซียน จำนวนผู้ต้องขังเกินความจุที่เรือนจำแต่ละแห่งรองรับได้
สถิติผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นทุกปี
ผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำ กลับเข้าสู่เรือนจำ 30,000 คน/ปี ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด
“คนล้นคุก” เป็นปัญหาสำคัญอย่างมากของระบบราชทัณฑ์ไทย เหมือนกับหลายๆประเทศ และส่งผลกระทบเป้าหมายหลักของการนำคนไปคุมขังเป็นอย่างมาก คือ ทำให้ไม่สามารถจัดระบบสวัสดิการ และไม่สามารถเน้นงานการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังได้อย่างเต็มที่
ผลงานทางวิชาการต่างก็มีข้อสรุปที่ตรงกันว่า ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ มีสาเหตุมาจากการใช้กฎหมายอาญามากเกินความจำเป็น การใช้มาตรการทางอาญาและการบังคับใช้โทษจำคุกกับผู้กระทำความผิดในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในคดียาเสพติด รวมทั้งการควบคุมตัวผู้ต้องหาในระหว่างพิจารณาคดีทั้งที่คดีไม่ถูกตัดสินด้วย เพียงเพราะผู้ต้องหาเหล่านั้น ไม่มีเงินประกันตัว
เมื่อมีผู้ต้องขังมากเกินกว่าศักยภาพการรองรับของเรือนจำ ทำให้กรมราชทัณฑ์ ต้องใช้งบประมาณส่วนใหญ่ไปกับการดูแลการกินการอยู่ของผู้ต้องขัง เมื่อดูในงบประมาณ ปี 2565 ของกรมราชทัณฑ์ จะพบว่า เฉพาะงบประมาณค่าอาหารผู้ต้องขัง ที่คิดเป็น 54 บาทต่อคน/วัน คิดเป็นเงินมากถึงปีละเกือบ 4,500 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับผู้ต้องขังใช้งบ 206 ล้านบาท
ผู้ต้องขังล้นเรือนจำจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมา มีทั้งข้อเสนอและแนวทางแก้ไขที่ทำไปบ้างแล้วหลายแนวทาง ทั้งการใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทนการจำคุก เช่น ใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ในการจำกัดพื้นที่แทนการจำคุก มาตรการคุมประพฤติ บำเพ็ญประโยชน์ ให้ผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัด และอาจรวมถึงการปรับปรุงการใช้กฎหมายอาญาให้เหมาะสม
และเมื่องบประมาณส่วนใหญ่ ต้องถูกใช้เป็นค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้กระบวนการในการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปจำนวนมาก จึงกลับเข้ามาสู่เรือนจำอีก เพราะเมื่อออกไปแล้ว ไม่สามารถหางานทำได้ ไม่มีใครรับเข้าทำงาน ไม่มีรายได้ จนบางส่วนตัดสินใจกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ทั้งที่คนเหล่านี้จำนวนมากเคยมีความต้องการที่จะกลับไปใช้ชีวิตปกติให้ได้
“อัตราการกระทำผิดซ้ำ” ช่วงพ.ค.2562 – เมษายน 2563 ผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำ 3,865 คน และหากดูสถิติการปล่อยตัวของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว 2561 ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นคดีที่มีอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังติดอันดับ1 ถึงร้อยละ63.02 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2562)
เมื่อแก้ปัญหา “การกระทำความผิดซ้ำ” อย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ จึงมีโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรองรับผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษได้มีงานทำ และหากทำงานได้ดี ก็จะถูกจ้างงานต่อทันทีที่พ้นโทษ
นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงความคืบหน้า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกรมราชทัณฑ์นำร่อง 4 แห่ง โดยเปิดเผยว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการหรือโรงงานที่มีความเหมาะสมที่จะร่วมโครงการ ผ่านการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ
และจัดทำกรอบเวลาประกาศเชิญชวนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมนิคมราชทัณฑ์ ส่วนกรมราชทัณฑ์ และกรมคุมประพฤติ จะดำเนินการเตรียมความพร้อมของผู้ต้องขังเข้าที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ทั้งรูปแบบการจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ รูปแบบการคุมประพฤติ เตรียมอุปกรณ์ EM และเตรียมบุคลากรเพื่อติดตามความคืบหน้าของผู้ต้องขังกลุ่มนี้
“การให้โอกาสผู้พ้นโทษเป็นสิ่งจำเป็นต่องานราชทัณฑ์เป็นอย่างมาก เพราะแม้ว่าผู้พ้นโทษ จะได้รับการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาพฤติกรรมได้ดีเพียงใด แต่ถ้าหากสังคมยังตีตราไม่ยอมให้โอกาสผู้ก้าวพลาด เขาก็ไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้ กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เขากลับมากระทำผิดซ้ำอีก ดังนั้นเราต้องอาศัยการสื่อสารให้สังคมยอมรับ ให้โอกาสในการสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้กระทำผิด ให้มีโอกาสได้ แก้ไขปรับปรุงตัวเอง เพื่อกลับคืนเป็นคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน นั่นเป็นแนวคิดการจัดตั้งนิคมอุสาหกรรมราชทัณฑ์” รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว
รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังเปิดเผยว่า จำนวนผู้ต้องขัง เพิ่มมามาตลิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2563-2564 เป็นช่วงที่สถิติสูงสุดถึง 3.8 แสนคน แต่ศักยภาพของเรือนจำที่สามารถรองรับผู้ต้องขังได้จริงๆมีเพียงประมาณ 2 แสนคน และเมื่อใช้วิธีที่จะลดปัญหาการแออัด ด้วยการผลักดันให้ผู้ต้องขังพ้นโทษเร็วขึ้น ภายใต้เงื่อนไขพักการลงโทษ ก็ถูกสังคมอาจมองในอีกมุมว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
แม้จะยังอยู่ภายใต้การควบคุมความประพฤติก็ตาม ดังนั้นโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ จึงถือเป็นช่องทางใหม่ที่สำคัญ ที่จะให้ผู้ต้องขังกลุ่มนี้ได้ออกไปประกอบอาชีพ นอกจากจะช่วยลดปัญหาความแออัดในเรือนจำแล้ว การที่ทำให้เขากลายเป็นแรงงาน มีอาชีพ มีรายได้ ก็จะช่วยลดปัญหาการกระทำความผิดซ้ำได้อีกด้วย
“ช่วงโควิดที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติหายไปเกือบหมด ดังนั้นเราจำเป็นต้องป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานอยู่แล้ว โครงการนี้ยังเป็นการสนับสนุนแรงงานมีฝีมือให้กับภาคเอกชนในสาขาที่ขาดแคลน ผมมองว่ากลุ่มผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษสามารถไปเป็นแรงงานให้ภาคอุตสาหกรรมได้ ไม่ต้องไปพึ่งพาต่างชาติ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร” รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว
“นิคมอุตสาหกรรมสมุทรปราการโมเดล” คือโครงการระยะสั้น ที่เปิดขึ้นมาทดลอง ในระหว่างที่นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์นำร่อง 4 แห่ง อยู่ในกระบวนการภาพใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว โดยโครงการนี้จะจำลองพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการโดยเรือนจำกลางสมุทรปราการ จะส่งผู้ต้องขังที่ได้รับการพักการลงโทษออกไปทำงานกับผู้ประกอบการในพื้นที่ ไปพร้อมกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ผู้ประกอบการโรงงานต่างๆ ทราบถึงแนวทางของโครงการนี้ ก่อนจะมีการคัดเลือกผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ ภายใต้หลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์
เช่น เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป ผ่านการจำคุกครั้งแรก หรือหากเป็นนักโทษกระทำผิดซ้ำ ก็ต้องผิดได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน3 ของกำหนดโทษ เหลือโทษจำคุกต่อไปไม่น้อยกว่า 1 ปี ไม่มีโรคประจำตัว สุขภาพร่ากายแข็งแรงอายุไม่เกิน 53 ปี และต้องผ่านการอบรมในศูนย์เตรียมความพร้อมด้านฝึกทักษะ การทำงานในภาคอุตสาหกรรม ตามที่กรมราชทัณฑ์กำหนด
ผู้ต้องขังกลุ่มนี้เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้วจะนำเข้าสู่การอบรม ตามระยะเวลา 1 เดือน ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ หลังจากนั้นจะทำการเชิญผู้ประกอบการเข้ามาคัดเลือก ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมราทัณฑ์สมุทรปราการโมเดลมีผู้ต้องขังกว่า200 คนเข้าร่วม และผู้ประกอบการในพื้นที่สนใจเข้าคัดแรงงานไปร่วมงาน โดยระหว่างการทำงานจะมีการติดอุปกรณ์ EM และเงื่อนไขที่ต้องอยู่กับผู้ประกอบการอย่างน้อย 1 ปี หรือจนกว่าจะพ้นการพักการลงโทษ จุดนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญว่าสังคมจะให้การยอมรับมากขึ้น เพราะพวกเขาถูกเปลี่ยนสถานะ
“ ผมเชื่อว่าทรัพยากรมนุษย์พัฒนาได้ วันหนึ่งหากเขาก้าวพลาดกระทำผิด เพราะความไม่รู้เราก็สามารถทำให้เขากลับมาเป็นคนดีได้ด้วยการให้อภัย และการยอมรับมีที่ยืนสังคมไม่กลับเข้าไปเป็นผู้กระทำผิดซ้ำ” รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวทิ้งท้าย