วันที่ 20 กุมภาพันธ์ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
นางสาวตรีนุช ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังผลการดำเนินงานว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานีเป็นสหกรณ์ต้นแบบ 1 ใน 5 ที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครู ตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน โดยได้นำแนวทางและมาตรการการแก้ไขหนี้สินครู ที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นชอบมาดำเนินการ
"ต้องขอชื่นชมคณะทำงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี เป็นอย่างมาก ที่ได้ทำหน้าที่เป็นต้นแบบ ในการนำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนมาปฏิบัติได้เห็นผลเป็นอย่างดี ไม่ว่า การลดดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี เป็นสหกรณ์ที่ลดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุดถึง 1%
ครูที่มีหนี้เงินกู้อยู่ 2 ล้าน 5 แสนบาท หลังจากลดดอกเบี้ยแล้ว จะทำให้ครูมีเงินเข้ากระเป๋าเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้เพิ่มขึ้นเดือนละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาททันที ถือได้ว่าเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ และช่วยให้คุณครูมีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ขึ้นได้ดีในระดับหนึ่ง"
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ได้จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครู ซึ่งประสานงานกับสถานีแก้หนี้ระดับจังหวัด ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมการแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้วเกือบ 14,000 ราย
เฉพาะที่จังหวัดอุดรธานี มีกว่า 400 ราย โดยรูปธรรมของการแก้ไขนอกจากสามารถยืดชำระหนี้ ได้ยาวนานขึ้น ยังสามารถช่วยเหลือให้ครู มีเงินเหลือ ไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้เพิ่มเติม
สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี ยังบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถใช้เงินของสหกรณ์มาบริหารจัดการแก้ไขหนี้ โดยจัดการรวมหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ มาไว้อยู่ภายใต้สหกรณ์เพียงแห่งเดียว ซึ่งช่วยให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครู สามารถทำได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
รวมถึงมีคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติหนี้เงินกู้ใหม่ โดยสามารถตรวจสอบฐานข้อมูล เพื่อไม่ให้ครู มียอดหนี้รวมกันสูงเกินกว่า 70% และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว จัดให้มีการอบรมครู ทั้งครูที่เข้าใหม่ ครูที่อยู่ในระยะการสร้างครอบครัว
หรือ ครูที่รับราชการมาเป็นระยะเวลานานได้มีความรู้ในด้านการบริหารจัดการเงิน สร้างวินัยการใช้จ่ายเพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตและครอบครัวที่ดียิ่งขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว