7 เมษายน 65 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ฉบับที่... พ.ศ... กล่าวก่อนการประชุม กมธ.วิสามัญฯ ว่า
วันนี้จะเป็นการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง ที่ได้มอบหมายให้คณะทำงานไปศึกษาร่วมกัน เนื่องจากมีความคิดเห็นแตกต่างกัน โดยเฉพาะการกำหนดอายุและอาชีพ
รวมถึงจำนวนและเงินทุนในการก่อตั้งพรรค ซึ่งบางประเด็นอาจจะแก้ได้ยาก เพราะอยู่ในหลักการที่กำหนดไว้อยู่แล้วอาจต้องมีการลงมติในประเด็นที่เห็นต่าง ที่สามารถแก้ได้และอยู่ในหลักการ ทำให้วันนี้ต้องพิจารณา
เนื่องจากคณะทำงานโดย นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการกมธ.วิสามัญฯ ก็ไปทำมาจบหมดแล้ว
เพียงแต่รอ นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ และรองประธานกมธ.วิสามัญฯ ที่เป็นเจ้าของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง มาร่วมประชุมด้วย วันนี้จะพูดคุยให้จบแล้วลงมติ เพื่อเดินหน้าต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติกำหนดเพิ่มเวลาการประชุมจากเดิม 09.30-13.00 น. เป็น 09.30-16.30 น. โดยจะเริ่มหลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไป เนื่องจากที่ผ่านมาหยุดการประชุมไป 2 สัปดาห์
โดยตั้งเป้าว่าจะต้องพิจารณาให้เสร็จทันกรอบเวลา คือก่อนช่วงเปิดสมัยการประชุมสภาฯสมัยสามัญ ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ดังนั้นจะพยายามเร่งให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งประเด็นสำคัญก็ผ่านไปแล้ว 1 ประเด็นสำหรับกฎหมายเลือกตั้ง เหลืออีกประมาณ 1-2 ประเด็นสำคัญก็จะต้องดำเนินการหาข้อยุติโดยเร็วที่สุด
ส่วนกรณีที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เตรียมไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาคว่ำการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบเป็นโมฆะนั้น นายสาธิต เชื่อว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อการพิจารณาของกมธ.วิสามัญฯ ตนเข้าใจและเห็นใจพรรคเล็ก
แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป นพ.ระวีและพรรคเล็ก คงอยากรักษาสถานภาพของตนเอง ในฐานะที่ต่อสู้และก่อตั้งพรรคเล็กขึ้นมา แต่ตอนนี้เราให้ความสำคัญว่า จะต้องทำให้สถาบันพรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
รวมถึงคะแนนที่จะนำมาคำนวณต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นสิ่งที่พรรคเล็กและนพ.ระวี จะใช้สิทธิ์ ตนก็เข้าใจได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ
สำหรับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในเรื่องการจัดทำไพรมารี่โหวต ยังมีข้อถกเถียงกันมาก อาจทำให้ยืดระยะเวลาการพิจารณาออกไปหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า นี่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะการทำไพรมารี่โหวตในหลักรัฐธรรมนูญคือ การใช้คำว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในแง่การปฏิบัติที่ลงมือทำจริงของแต่ละพรรคการเมืองก็เห็นตรงกันว่ามีปัญหา
ที่สำคัญการมีส่วนร่วมของประชาชนมีหลายมิติ การทำไพรมารี่โหวต ถ้ามันสะท้อนความต้องการของคนในเขตเลือกตั้งนั้นก็จะเป็นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่ถ้าทำเพื่อให้ครบเงื่อนไขตามกฎหมาย ก็อาจจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นการพิจารณาต้องถกเถียงกันให้ตกผลึก ถ้าเขียนไว้เข้มจนเกินไปและพรรคการเมืองไปทำไม่ได้ ก็จะเป็นช่องว่างทำให้พรรคการเมืองมีความหมิ่นเหม่ว่าทำไม่ครบเงื่อนไข และเกิดข้อบกพร่องในการทำผิดกฎหมาย เมื่อเราเขียนกฎหมายแล้วต้องให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และทุกฝ่ายปฏิบัติได้จริงไม่เกิดเงื่อนไข