ประเด็นปัญหาการคัดเลือกเอกชน ในการจัดให้เช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในพื้นที่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี , ระยอง มูลค่าสูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาท แต่เกิดกรณีปัญหาจากการที่กรมธนารักษ์ ตัดสินใจรื้อ แก้ไข การประมูลครั้งแรก และทำการเกิดประมูลรอบใหม่
โดยมีชื่้อของ บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด เข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพราะเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และปัจจุบัน สำนวนการฟ้องร้องในส่วนของคำร้องหลัก ยั งอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์วอเตอร์” ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ได้ยื่นคำร้องต่อเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และทาง ก.ล.ต. เพื่อดำเนินการตรวจสอบการบริหารงานของนางอัศวินี ไตลังคะ ประธานคณะกรรมการบริษัทและกระบวนการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท
ที่อาจจะมีการฝ่าฝืนจรรยาบรรณทางธุรกิจ ข้อบังคับบริษัท กฎบัตรคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนของบริษัท และความผิดตามหลายมาตราของหมวด 3/1 ว่าด้วยเรื่องการบริหารกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ในส่วนของหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารตามมาตรา 89/7 มาตรา 89/8 มาตรา 89/10 มาตรา 89/11 มาตรา 89/12 และมาตรา 89/14 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และหมวด 6 ว่าด้วยเรื่องคณะกรรมการตามมาตรา 85 มาตรา 88 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้ว
โดยตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของ “อีสท์วอเตอร์” เน้นย้ำว่า จากข้อมูลที่ผู้ถือหุ้นมีอยู่นั้น พบว่ามีเหตุอันควรสงสัยหลายประการว่า นางอัศวินี ประธานคณะกรรมการบริษัทฯ อาจมีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อจรรยาบรรณในทางธุรกิจว่าด้วยเรื่องความขัดแย้ง ทางผลประโยชน์ รายการที่เกี่ยวโยงกัน และ การทำธุรกรรมระหว่างกันของกลุ่มบริษัท
ล่าสุดนนี้ (18 เม.ย.65) ทางตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นฯ อีสท์วอเตอร์ เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากทาง ก.ล.ต. ว่า ขอให้ผู้ถือหุ้นที่ร้องเรียนจัดส่งข้อมูลและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนซึ่งเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 เป็นการเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาประกอบคำร้องที่ยื่นมาก่อนหน้า
ทางกลุ่มผู้ถือหุ้น จึงรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานเอกสารเพื่อนำส่ง ก.ล.ต. จำนวน 11 รายการ รวมทั้งสิ้น 244 หน้า เพื่อให้มีการพิจารณาในประเด็นที่ร้องเรียนไปใน 3 ประเด็น คือ
1. ประเด็นความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของประธานคณะกรรมการบริษัทฯ และในกระบวนการสรรหาแต่งตั้งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทฯ
2. ประเด็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน และ ธุรกรรมระหว่างกันของกลุ่มบริษัท ที่อาจจะเข้าข่ายการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ จรรยาบรรณทางธุรกิจ ข้อบังคับของบริษัท
3. ประเด็นการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเพื่อสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แทนผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมที่กำลังจะหมดวาระนั้นมีการฝ่าฝืนกฎบัตรคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนของบริษัท”