วันนี้(29 เม.ย.65) ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟสบุคผ่านเพจ ดร.อตม สาวนายน ระบุว่า ขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกท่าน ในประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการดูแลประชาชนคนไทย ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากภาวะต้นทุนราคาพลังงานสูง วัตถุดิบและสินค้าบริการต่างๆ ปรับราคาแพงขึ้น และมีแนวโน้มจะแพงขึ้นต่อไป แต่ขณะเดียวกันกลับต้องเผชิญกับปัญหารายได้ที่ถดถอย เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้น
เรื่องนี้เป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังก็ได้ลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.5 จากเดิมที่ร้อยละ 4 และคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ร้อยละ 5 ซึ่งเกินกรอบเงินเฟ้อเดิมของประเทศที่กำหนดไว้ร้อยละ 1-3 ไปมาก รวมทั้งยังระบุว่า สถานการณ์อนาคตเศรษฐกิจประเทศ มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนหลายประการ
สถานการณ์ดังกล่าว ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะราคาพลังงานนั้นเป็นปัญหาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการภายในประเทศเอง ด้วยการดำเนินนโยบายและมาตรการที่ครอบคลุมเหมาะสม เพื่อดูแลประชาชนและผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็เพื่อพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมไม่ให้ทรุดหนักลงไป และมีความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน รวมทั้งปัจจัยความเสี่ยงในปัจจุบัน
สำหรับการดูแลช่วยเหลือเยียวยาค่าครองชีพประชาชนเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบมาก แต่ตามที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นว่า วันนี้นอกจากประชาชนมีปัญหาเรื่องต้นทุนพลังงานและค่าครองชีพแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องรายได้อีกด้านหนึ่งด้วย ในภาวะเช่นนี้จำเป็นต้องใช้ชุดมาตรการที่จะสามารช่วยเหลือดูแลประชาชนได้ครบวงจร เพราะเพียงมาตรการด้านใดด้านหนึ่ง จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง
นับตั้งแต่การระบาดของโควิด รัฐบาลได้ออกมาตรการบรรเทาด้านค่าครองชีพ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สภาพการปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต มีเหตุแทรกซ้อน โดยเฉพาะสงครามยูเครน ทำให้การดูแลเศรษฐกิจและปัญหาของประชาชนมีความซับซ้อนและอ่อนไหวเพิ่มขึ้นมาก เช่น การกระตุ้นกำลังซื้อเพื่อเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการนั้น จะส่งผลได้ในช่วงเวลาหนึ่งก่อนเศรษฐกิจโดยรวมจะฟื้นตัว แต่ทว่าหากเศรษฐกิจยังไม่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน และรายได้ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการกลับถดถอย รวมทั้งมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น มาตรการเดิมเพียงเท่านั้นจึงอาจไม่มีผลได้เช่นดังก่อน
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา พรรคสร้างอนาคตไทยได้จัดประชุมสามัญครั้งแรกของพรรค และได้นำเสนอ #ชุดความคิดใหม่ ที่อยู่บนพื้นฐานของการเร่งฟื้นเศรษฐกิจ และสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศและคนไทย ซึ่งนำไปสู่นโยบาย 5 สร้างของพรรค ได้แก่
-สร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจฐานราก
-สร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ก้าวทันโลก
-สร้างสังคมที่เกื้อกูล เป็นธรรม และยั้งยืน
-สร้างคนและวิทยาการ พร้อมก้าวสู่สังคมโลกแห่งอนาคต
-สร้างการเมืองสร้างสรรค์ด้วยพลังบวก
การที่จะขับเคลื่อนนโยบาย 5 สร้างนี้ เราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ดังที่ผมได้กล่าวไปตอนต้นแล้ว ซึ่งผมเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีชุดมาตรการที่ครอบคลุม โดยเพิ่มมาตรการใหม่ที่จะช่วยเพิ่มความสามรถในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการโดยตรงและต่อเนื่อง ผมจึงขอแชร์แนวคิดดังต่อไปนี้ครับ
1.การสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในวงกว้างและต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงฟื้นฟูเงินทุนให้ผู้ประกอบการ
2.การช่วยให้ผู้ประกอบการรายกลางรายเล็ก ที่ขณะนี้มีปัญหาการเข้าถึงเงินกู้สินเชื่อ ให้มีเงินหมุนเวียนเพียงพอในช่วงเวลาปัจจุบัน เพื่อสามารถทำการค้าต่อไปได้
3.การเพิ่มปริมาณการค้าโดยใช้ประโยชน์จากตลาดแนวชายแดนให้มากขึ้น
สำหรับวันนี้ผมจะขอกล่าวถึงแนวคิดข้อแรกก่อนว่า เมื่อเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันหดหาย จึงมีความจำเป็นต้องสร้างแหล่งรายได้ใหม่ขึ้นมา และแหล่งรายได้ใหม่นั้นสมควรพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเปราะบาง รวมถึงกลุ่มคนตัวเล็กทั้งพ่อค้าแม่ขาย และเอสเอ็มอี ที่สำคัญเน้นการกระจายแหล่งรายได้นั้นให้ทั่วถึงในพื้นที่ต่างๆของประเทศ เพื่อช่วยเศรษฐกิจฐานรากให้หมุนเวียนคล่องตัวขึ้น
ทีมงานสร้างอนาคตไทยได้ประมวลภาพกำลังซื้อในปัจจุบัน พบว่า แม้ในภาพรวมกำลังซื้อจะหดหาย แต่ในความเป็นจริงยังมีผู้มีกำลังซื้อรายใหญ่อยู่ ประกอบด้วย 1.หน่วยงานราชการ 2.รัฐวิสาหกิจ 3.เอกชนรายใหญ่ ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์และอื่นๆต่อเนื่อง โดยจากการประเมินคาดว่ามีมูลค่ารวมกันสูงถึงปีละ 3 ล้านล้านบาท
แนวทางที่เราเสนอคือ จากเดิมที่โดยปกรติถือปฏิบัติ หน่วยงานดังกล่าวจะดำเนินการจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ ฯลฯ ในส่วนกลาง แล้วจึงจัดส่งสิ่งที่จัดซื้อไปให้หน่วยงานของตนในพื้นที่ต่างๆเพื่อใช้งาน เม็ดเงินที่เกิดจากการจัดซื้อจึงอยู่ในส่วนกลางเป็นจำนวนมาก โดยต้องใช้เวลานานจึงจะหมุนเวียนไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ
ดังนั้น หากเราทำให้เม็ดเงินจากการจัดซื้อดังกล่าว กระจายลงสู่พื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ได้เร็วยิ่งขึ้น ก็จะเกิดประโยชน์ครอบคลุมเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากได้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สามารถพิจารณาดำเนินการการจัดซื้อในพื้นที่โดยตรง เพื่อให้ธุรกรรมการซื้อขายเกิดขึ้นในพื้นที่ ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายกลางรายเล็กที่มีความพร้อม เข้าถึงการเสนอขายครุภัณฑ์และอื่นๆ ดังกล่าวได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้และกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในหลากหลายพื้นที่ของประเทศได้โดยตรง
ทั้งนี้เราอาจมีข้อกังวลว่า การจัดซื้อในท้องถิ่นมีโอกาสที่งบประมาณจะรั่วไหลมากนั้น ผมคิดว่า หากภาครัฐมีนโยบายทำเรื่องนี้อย่างชัดเจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถหารือร่วมกันกำหนดวิธีบริหารจัดการที่รัดกุมและโปร่งใสให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัว เพื่อให้ดำเนินการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
วันนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ปรกติ และเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงในอนาคต เราควรมีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดและการดำเนินการบางประการ เพื่อดูแลประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการสร้างรายได้ให้ประชาชนในวงกว้าง ด้วยการสนับสนุนการจัดซื้อตรงในท้องถิ่น เป็นตัวอย่างแนวคิดหนึ่งที่สามารถพิจารณากำหนดเป็นมาตรการดำเนินการได้ในทันที
ทั้งในส่วนหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงธนาคารของรัฐที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ทั้งยังสามารถแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มีหน่วยงานอยู่ในพื้นที่ต่างๆไปพร้อมๆกัน เพื่อให้มาตรการมีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น
พรรคสร้างอนาคตไทยเชื่อว่า การกระจายอำนาจและโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถดูแลกันเองได้มากขึ้น ภายใต้แนวทางขบวนการปฏิบัติที่ชัดเจนและรัดกุม จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งยั้งยืนให้เศรษฐกิจฐานราก และผมจะขออนุญาตแชร์แนวความคิดเกี่ยวกับมาตรการอื่นๆต่อไปในครั้งหน้า