นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 3 ยังคงออกเดินสายหาเสียงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.อย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้(30 เม.ย.) ได้ลงพื้นที่หาเสียงที่เขตคลองสาน
นายสกลธี กล่าวว่า สำหรับตารางการหาเสียงของตนนั้นส่วนใหญ่ในทุกเช้ายังเน้นการเดินตลาดเพื่อพบปะพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ เพราะการเดินตลาดจะทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงจากพี่น้องประชาชนโดยตรง
โดยพบว่าปัญหาหลักส่วนใหญ่นอกจากเรื่องการจราจรแล้ว ก็คือเรื่องปากท้อง ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ว่าฯ กทม. โดยตรง แต่ตนคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ว่าฯ จะต้องคิดถึงและช่วยเหลือด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเปิดประเทศ 1 พฤษภาคม หลายคนก็หวังที่จะมี การทำมาหากิน ที่ดีขึ้น ในส่วนของ กทม.ก็จะเน้นเรื่องของการหาพื้นที่เพื่อให้ทุกคนที่ต้องการค้าขายได้มีโอกาส เพื่อฟื้นจากช่วงโควิดที่ผ่านมา
นายสกลธี กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของราคาสินค้าและค่าขนส่ง ซึ่งในส่วนของราคาสินค้านั้นผู้ว่าฯ กทม.อาจจะไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือการไปดูแลเรื่องของค่าขนส่งสาธารณะที่อาจจะหาทางให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม เพื่อลดภาระให้กับประชาชนในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
“ผมคิดว่า ในทุกพื้นที่การขาย หรือที่มีกิจกรรมต่างๆ ในทุกสำนักงานเขตหรือหน่วยงานต่างๆ ของกทม. ต้องพยายามหาพื้นที่ที่จะให้ประชาชนมาขายในราคาที่ถูกลง เพื่อให้แม่ค้าพ่อค้าชาว กทม.ที่ต้องการเพิ่มรายได้ ได้มีโอกาสในการค้าขายมากขึ้น” นายสกลธีกล่าว
สำหรับการหาเสียงขณะนี้นั้น นายสกลธี กล่าวว่า ยังคงเน้นการลงพื้นที่ในทุกๆ เช้าเพื่อพบปะกับประชาชนให้มากที่สุดรวมทั้งรับเรื่องร้องเรียนและ สำรวจปัญหาต่างๆ เช่น ที่เขตคลองสานก็ไปดูเรื่องการจัดการขยะ รวมถึงการลอกท่อระบายน้ำที่ประชาชนบอกว่ายังมีปัญหาอยู่
ขณะที่ในโค้งสุดท้ายจะมีการปราศรัยหาเสียงใหญ่ในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม ที่ลานคนเมือง และวันที่ 20 พฤษภาคม ที่วงเวียนใหญ่ โดย มีไฮไลท์อยู่ที่การเปิดตัวทีมงานของตนทั้งหมด ทั้งว่าที่รองผู้ว่าฯ และที่ปรึกษาเกี่ยวกับงานของ กทม. หากตนได้รับเลือกตั้งให้เข้าไปเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่
ต่อมา นายสกลธี ได้ลงพื้นที่หาเสียงที่ชุมชนท่าดินแดง พร้อมกล่าวว่า จากการเดินสำรวจพื้นที่และพบปะพี่น้องของชุมชนแห่งนี้ พบว่าปัญหาจะเหมือนกับชุมชนย่อยๆ หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ คือมีทางเดินเข้าชุมชนที่แคบ มีปัญหาในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องความปลอดภัยและเรื่องปัญหาขยะ เพราะไม่สามารถนำรถเข้าไปจัดเก็บได้ เหมือนหมู่บ้านที่มีถนนกว้างทั่วไป
จึงต้องใช้กำลังคนเดินเท้า ทำให้บางทีมีขยะตกค้างจำนวนมาก กำลังเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บไม่ทันกับปริมาณขยะ ดังนั้น ตามแนวคิดของ “สกลธีโมเดล” คือการ ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ เพราะอาจจะมีความสะดวกมากกว่า เนื่องจากในส่วนของ กทม. เองอาจจะติดปัญหาเรื่องงบประมาณการจ้าง พนักงานเก็บขยะเพิ่ม โดยตามแนวคิดก็คือการเข้าไปแก้ข้อบัญญัติบางประการของ กทม.เพื่อที่จะให้สามารถเปิดให้เอกชนเข้ามารับดำเนินการตรงนี้ได้ ก็จะทำให้การจัดเก็บทั่วถึงขึ้น
นอกจากนี้ การที่เปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการเรื่องการเก็บขยะ ยังสามารถจะสร้างรายได้ให้กับ กทม. ด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสกลธีโมเดล เพราะขยะก็มีค่า ซึ่งในส่วนของ กทม. จะได้ทั้ง 2 รูปแบบคือ
1.การลดงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างการเก็บขยะ ทั้งการเช่ารถ หรือการจ้างบุคลากร หรือการจ้างฝังกลบ โดยจะทำให้สามารถประหยัดงบประมาณไปได้
2.ขยะที่สร้างรายได้ให้อีก รวมทั้งหมดก็น่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายของ กทม. ไปได้ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี
“อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การปลูกจิตสำนึกให้กับคนกรุงเทพฯ ในการทิ้งขยะ เพราะตราบใดที่ เจ้าหน้าที่เก็บแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าประชาชนยังเห็นคลองหลังบ้านเป็นที่ทิ้งขยะ หรือทิ้งขยะไม่เป็นที่ ผมคิดว่าปัญหาก็ไม่จบ ดังนั้นจึงต้องปลุกจิตสำนึกของประชาชนให้ร่วมด้วยช่วยกัน ไปด้วยครับ” นายสกลธีกล่าวเสริม