วันที่ 20 พ.ค. 65 เวลา 09.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานเสวนา BETTER THAILAND open dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า ในหัวข้อ "สังคมยุคใหม่ กฎหมายทันสมัย ระบบราชการทันโลก แก้คอรัปชั่นทันที"
โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที ในการอธิบายปัญหากฎหมายของไทยตั้งแต่ในอดีต โดยสรุปในตอนท้ายตอนหนึ่งว่า ทั้งหมดนี้ คือคำตอบสิ่งที่ท่านถามว่าทำอย่างไรให้กฎหมายดีขึ้น ระบบราชการดีขึ้น การทุจริตน้อยลง รัฐบาลพยายามทำเช่นนี้ ซึ่งยังต้องทำอีกเยอะ และยังต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนอีกมาก เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เป็นผล เป็น Better Thailand
"รัฐบาลพยายามทำให้กฎหมายดีขึ้นเพื่อเป็นผลดีต่อประชาชน สิ่งที่พยายามทำคือ ต้องการเห็น 4 ขึ้น 1 ลง คือ ต้องการเห็นทุกอย่างเป็นทำขึ้น ต้องการเห็นทุกสิ่งทุกอย่างรวดเร็วขึ้น ต้องการเห็นทุกสิ่งทุกอย่างง่ายขึ้น ต้องการเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเข้าท่ากว่าเดิมยิ่งขึ้น แต่ต้อง 1 ลง คือ ต้องการเห็นการให้บริการของรัฐใช้ต้นทุนงบประมาณของรัฐให้น้อยลงกว่าเดิมเช่นเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การติดต่อราชการประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายน้อยลงกว่าเดิม ถ้าทำได้ประเทศไทยจะดีขึ้น ประเทศไทยย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน ถ้ากฎหมายดีระบบราชการดีไม่มีคอรัปชั่น เรายอมก้าวทันโลกนี้อย่างแน่นอน"นายวิษณุ กล่าว
โดยก่อนหน้านั้นกว่า 1 ชั่วโมงนายวิษณุได้ฉายภาพให้เห็นถึงรากเหง้าปัญหากฎหมายเก่าของไทย ที่ไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยระบุว่า
ปัญหาที่ผ่านมา กฎหมายล้าสมัย ระบบราชการเช้าชามเย็นชาม คอร์รัปชั่นมีมาก เรื่องนี้ต้องเริ่มว่า กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ สภาพของระบบราชการ หรือการทำงานของบุคลากรนั้น อยู่กันเช่นนี้ ด้านกฎหมาย ล้าสมัย บางฉบับออกมาตั้งแต่ครั้ง รัชกาลที่ 5 กฎหมายเหล่านั้นยังใช้อยู่ ออกกฎหมายไม่ทันสถานการณ์
เช่น โควิด-19 เมื่อมันระบาดก็พลิกใช้กฎหมายกันไม่ทัน เมื่อคริปโตเคอร์เรนซีเข้ามา เราก็ตื่นตกใจ เราจะใช้กฎหมายใดรับมือบิทคอย์น ถ้ามีการโกงกันจะใช้กฎหมายใดจัดการ
ระบบราชการ เช้าชามเย็นชาม ล้าสมัย สร้างภาระ ไม่เป็นมิตรกับประชาชน สิ่งที่เราพบคือ การติดต่อขออนุญาตสิ่งใดกับราชการไป 6 เดือน 1 ปี ก็ไม่มีคำตอบ ผ่านไป 2 ปีถึงจะตอบปฏิเสธว่าหลักฐานไม่ครบ เพราะไม่มีกฎหมายใดบังคับให้รีบตอบ หรือ บางครั้งเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจ ว่าใครได้รับการอนุญาตหรือไม่ได้
ทั้งหมดนำมาสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น เราเคยรู้สึกว่ามันมีมาก กฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง กลไกการตรวจสอบมีน้อย หรือไม่มีเลย คำว่า ใต้โต๊ะ คำว่ารีดไถ คำว่าอมเงินทอน จึงเป็นคำที่ระบาดอยู่ทั่วไป "และนี่คือสภาพของระบบราชการ ณ กาลครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้"
ฉะนั้นเมื่อมีโจทย์มากมาย ก็ต้องถามมาเพื่อตอบไป ประชาชนเขาถามมา ทำอย่างไรให้ระบบราชการมันรวดเร็ว ไม่โกง ซึ่งทำได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลา ความร่วมมือและความหนักแน่นเข้มแข็งในการตัดสินใจ
3 มาตรการแก้ปัญหา เพื่อประเทศที่ดีกว่าเดิม
นายวิษณุกล่าวว่า ครั้งหนึ่งมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ และมาวันนี้รัฐได้ปรับปรุงแก้ไขไปมากแล้ว และจะทำให้มันมากยิ่งขึ้นต่อไป และนี่คือคำตอบ เราจะต้องใช้มาตรการ 3 ประการร่วมกัน มาตรการการบริหาร มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางกฎหมาย
มาตรการทางบริหาร
มาตรการทางปกครอง
มาตรการทางกฎหมาย
และกำหนดว่า กฎหมายทั้งหลายพึงมีคณะกรรมการเท่าที่จำเป็น ในการที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจ ให้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะใช้กันตามอำเภอใจ และยังบัญญัติว่า กฎหมายทั้งหลายพึงกำหนดโทษทางอาญาเพียงเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องเอาคนเข้าคุกไปหมด
นอกจากนี้วันนี้เรามีกระบวนการปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แก้กฎหมาย กระบวนการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น นายกฯยังสั่งการด้วยว่า ให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วน เผื่อต้องแก้กฎหมายเร่งด่วน เป็น Fast Track เป็นทางด่วน ไม่ต้องต่อคิวกฎหมายฉบับอื่น จะได้เข้าสภาเร็วขึ้น
สะดวก รวดเร็ว ง่าย ลดโกง
นายวิษณุ กล่าวว่า เพื่อจะทำให้ทุกอย่างสะดวก รวดเร็ว ต่อไปนี้คือกฎหมายที่ออกมาแล้วหรือกำลังจะออก และเป็นกฎหมายที่ประชาชนรอคอยมาหลายปีแล้ว แต่ออกมาไม่ได้สักที
พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ พ.ศ. 2558 มุ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขออนุญาตกับทางภาครัฐ ซึ่งสมัยก่อนนั้นยาก และช้า จนเกิดการจ่ายเงินใต้โต๊ะ มีนายหน้ารับอาสาติดต่อราชการ พ.ร.บ.นี้กำหนดให้ส่วนราชการทุกแห่ง ต้องทำคู่มือการติดต่อราชการให้ชาวบ้าน ว่าต้องติดต่อที่ไหน ผ่านโต๊ะใดบ้าง
หากขออนุญาตต้องระบุว่าใช้เวลาเท่าใดจึงจะตอบกลับ หากครบกำหนดแล้วยังไม่ได้รับคำตอบ จะโดนเอาผิด หรือถ้ายังไม่เสร็จต้องออกหนังสือแจ้งประชาชนก่อน ไม่เช่นนั้นจะมีความผิด
พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 2563 อนุญาตให้การประชุมของราชการ รวมถึง ครม. ก็ทำผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้ ฉะนั้นจะอ้างว่า เรียกประชุมไม่ได้ ดำเนินการไม่ได้ แก้ตัวไม่ได้แล้ว
ร่าง พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ บัญญัติว่า การที่ประชาชนไปติดต่อกับราชการไม่ว่าเรื่องอะไร เดิมทีต้องเอาตัวเองไป นั่งรถไป ไปต่อคิว ไปยื่นบัตร ถึงจะติดต่อราชการได้ สิ่งนี้กำลังเป็นอดีต เพราะร่างกฎหมายนี้ ที่อยู่ในสภา กำหนดให้ติดต่อราชการได้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านแอป LINE ก็ได้ เว็บไซต์ก็ได้ ไม่ต้องไปปรากฏตัวแล้ว
ที่สำคัญคือ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้ประชาชนต้องมาปรากฎตัวติดต่อด้วยตนเอง ยกเว้นบางเรื่องเช่น จดทะเบียนสมรส หย่า การทำหนังสือเดินทาง และอื่นๆ ที่มียกเว้นไว้
ร่าง พ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม ท่านไปแจ้งความตำรวจ ที่ผ่านมาใช้เวลาเท่าใด กว่าจะถึงอัยการ ฟ้องศาลต้องรอนานเท่าใด ส่งเรื่องไป ป.ป.ช. ใช้เวลากี่ปีถึงจะตัดสินออกมา
ร่างกฎหมายนี้กำหนดเวลาในการทำงานของแต่ละหน่วยงานแต่ละกระบวนการยุติธรรมไว้ ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในแต่ละเรื่อง นี่คือกฎหมายที่จะทำให้การดำรงชีวิต ติดต่อราชการ และทำมาหากิน สะดวกขึ้น
การนำ e-service มาใช้ กับระบบราชการ
นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้เริ่มนำร่องใช้ไปแล้วหลายเรื่อง ถ้านำมาใช้ก็จะโปร่งใส เกิดรัฐบาลดิจิทัล ทุกการขออนุมัติจะเร็วขึ้น ตรวจสอบได้ ลดการโกง ที่มันเกิดการโกงก็เพราะต้องไปเกาะโต๊ะเจ้าหน้าที่ ถ้าทุกอย่างไม่เจอหน้ากัน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะลดโกงไปได้มาก ทุกวันนี้นำมาทดลองใช้แล้ว 350 บริการ ที่ ครม.มีมติบังคับแล้ว 12 บริการ ปีหน้าก็จะมากขึ้นอีก
เป็นธรรม ลดโกง
นายวิษณุ กล่าวว่า ในแง่การลดโกง บัดนี้ในสมัยรัฐบาลนี้ มีการออกกฎหมายเหล่านี้มาแก้ปัญหาให้ประชาชน เช่น พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ให้จัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการทั่วประเทศในแต่ละแบบ หากฝ่าฝืนจะมีความผิด แม้แต่นักการเมือง นายกรัฐมนตรี ส.ส. ก็ต้องอยู่ใต้มาตรฐานทางจริยธรรม
ที่ ส.ส.หญิงคนหนึ่งถูกตัดสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ก็เพราะข้อหาฝ่าฝืนข้อหาทางจริยธรรมนี้เอง
ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ปกติคนทำผิด ถูกปรับเป็นเงิน คนที่ถูกปรับจะต้องโทษอาญา มีประวัติอาชญากรรมติดตัว และถ้าไม่มีเงินต้องถูกกักขัง คนที่มีเงินเวลาถูกปรับจึงไม่เดือดร้อน แต่คนจนเดือดร้อนและถูกขังคุกเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ไม่เป็นธรรม กฎหมายนี้จึงกำหนดว่ากฎหมายใดมีโทษปรับ
ศาลสามารถสามารถเปลี่ยนโทษปรับเป็นพินัยได้ แปลว่า ไม่มีโทษปรับ ไม่มีประวัติอาชญากรรม ไม่ถูกกักขัง ศาลอาจลดเงินค่าปรับลง เปลี่ยนการลงโทษเป็นบริการสาธารณะได้
ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับแก้ไข เดิมใครไม่มีเงินเรียน ไปกู้ กยศ. มีคนค้ำประกัน เช่น ครู เมื่อไม่จ่ายหนี้ ครูก็เดือดร้อน ร่างนี้แก้ไข ให้สามารถกู้ได้ แต่ห้ามเอาครูมาค้ำประกัน ต้องเป็นญาติเท่านั้น และเมื่อถึงเวลาใช้หนี้ ให้ผ่อนได้ งดดอกเบี้ยได้ หรือลดราคาเงินกู้ลงได้ในบางกรณี
เพิ่มอำนาจ ติดอาวุธให้ประชาชน
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า การเพิ่มอำนาจให้ประชาชนนั้นสำคัญ ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ข้าราชการต้องรับใช้ประชาชน ฉะนั้นมันมีกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ประชาชน คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จะเริ่มใช้ 1 มิถุนายนนี้ กำหนดให้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน เป็นความลับ เปิดเผยไม่ได้เว้นแต่เจ้าตัวจะอนุญาต ใครเปิดเผยมีความผิด
พ.ร.บ.ในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2565 ประชาชนเสนอข้อบัญญัติของจังหวัดหรือตำบลได้
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 รวมตัวกันเกิน 1 หมื่นคน ก็ยื่นกฎหมายได้ ไม่ต้องรอ ส.ส.
พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ถ้าเรื่องใดรัฐอยากฟังคนทั้งประเทศ สามารถจัดทำประชามติในเรื่องนั้นได้
ที่สำคัญคือ กฎหมายอีกฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อถอดถอน สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เมื่อเลือกผู้บริหารไปแล้วไม่รักษาสัญญาที่หาเสียงเอาไว้ หรือทำไม่ดี สมัยก่อน ทำอะไรไม่ได้จนหมดวาระ หรือไปฟ้องร้อง
แต่ร่างนี้ให้รวมตัวกันเข้าชื่อถอดถอนออกได้ กึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิ ตั้งข้อหาแจ้งคณะกรรมการที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งขึ้นมาได้ ให้ไต่สวน หากผิดจริง จะเสนอ รัฐมนตรีเพื่อถอดถอน และเลือกตั้งใหม่
ทั้งหมดนี้ คือคำตอบสิ่งที่ท่านถามว่าทำอย่างไรให้กฎหมายดีขึ้น ระบบราชการดีขึ้น การทุจริตน้อยลง รัฐบาลพยายามทำเช่นนี้ ซึ่งยังต้องทำอีกเยอะ และยังต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนอีกมาก เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เป็นผล เป็น Better Thailand