วันที่ 26 พ.ค.2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ ๑๘)
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ ๑๗ ออกไป จนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ นั้น
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดําเนินมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาตั้งแต่เริ่มมีการระบาด มีการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของโรคในหมู่ประชาชนทุกช่วงวัย ส่งผลให้จํานวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวลดลง เป็นลําดับ จนสามารถผ่อนปรนให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดํารงชีวิตและดําเนินกิจกรรม ทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติมากยิ่งขึ้น
รวมถึงการเปิดการเรียนการสอนในสถานศึกษา ทั่วประเทศ แต่เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคดังกล่าวทั่วโลกยังคงรุนแรง มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น และระบาดแพร่หลายเป็นระยะ และต้องใช้เวลาในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมมากกว่า ที่เป็นอยู่
อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังคงระดับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรค ระบาดใหญ่ (Pandemic) กรณีจึงยังคงมีสถานการณ์ฉุกเฉินอันกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดํารงไว้ซึ่งมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อไปอีก ระยะเวลาหนึ่ง
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๘ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ จึงให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีกคราวหนึ่ง สําหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ จนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี