"เพื่อไทย"ซัดรัฐบาล ตั้งเป้ารายได้จากภาษี 9หมื่นล้าน จงใจขูดรีดประชาชน

01 มิ.ย. 2565 | 03:33 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2565 | 11:10 น.

".จิราพร"อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบฯปี66 วันที่สอง ซัด"รัฐบาล" ตั้งเป้ารายได้จากภาษี 9หมื่นล้านบาท จงใจขูดรีดประชาชนที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ตอกย้ำหารายได้ไม่เป็น

   การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ  รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3,185 ล้านล้านบาท เป็นวันสอง ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. 

 

 นายศุภชัย แจ้งต่อที่ประชุมถึงการใช้เวลาอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบฯ 66 ในวันแรก เมื่อ 31 พฤษภาคม ว่า ใช้เวลารวม 13 ชั่วโมง 13 นาที โดยครม.และพรรคร่วมรัฐบาล ได้เวลาจัดสรร 22 ชั่วโมมง ใช้เวลาไป 2 ชั่วโมง 12 นาที , ส.ส.ร่วมรัฐบาล ใช้เวลา 3 ชั่วโมง 53 นาที เหลือเวลา 15 ชั่วโมง 53 นาที ขณะที่ฝ่ายค้าน ได้เวลาจัดสรร 22 ชั่วโมง ใช้เวลาแล้ว 6 ชั่วโมง 50 นาที เหลือเวลา 15 ชั่วโมง 9 นาที 
 

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย

จากนั้นได้เข้าสู่การอภิปราย โดยน.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ร่างพ.ร.บ.งบฯปี66 เป็นร่างกฎหมายที่ขูดรีดประชาชน เพราะรัฐบาลตั้งเป้าประมาณการรายได้ 2.49 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปี 2565 กว่า 9 หมื่นล้านบาท ขณะที่เงินกู้ปรับลดเหลือ 6.95แสนล้านบาท เพื่อไม่ให้เกินเพดาที่กู้ได้ ที่ 7.17แสนล้านบาท  และมีตัวเลขกู้ที่น้อยจากปี 2565 กว่า 5,000 ล้านบาท  

 

พฤติกรรมดังกล่าวถือว่าเอกเปรียบประชาชน เพราะรัฐบาลลดวงเงินกู้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกวิจารณ์จากประชาชนว่าเป็นรัฐบาลนักกู้ที่กู้เพิ่มทุกปี แต่เพิ่มการจัดเก็บภาษีจากรัฐวิสาหกิจ ถือว่าซ้ำเติมประชาชนที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ

 

“ประมาณการรายรับ รายได้จากภาษี และรัฐวิสาหกิจ ตั้งเป้าเก็บเพิ่มขึ้น จะกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนและผู้ประกอบการโดยตรง โดยตั้งเป้า ภาษีนิติบุคคล 6.7แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9หมื่นล้านจากปี 2565 มีคำถามว่าจะเก็บจากใคร บริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทขนาดเล็ก แต่หากรัฐบาลระบุว่าจะจัดเก็บได้ตามเป้าแน่นอน

 

ขอตั้งข้อสังเกตว่า การจัดเก็บภาษี 80% มาจากบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลอาจมีการทำโครงการเพื่อเอื้อให้บริษัทขนาดใหญ่มีรายได้เพื่อจ่ายภาษีตามเป้า โดยละเลยการสนับสนุนบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี และหากรัฐบาลทำได้ไม่ตามเป้ากรรมอาจตกมายังกลุ่มเอสเอ็มอี”

 

บรรยากาศการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณางบฯปี 2566

น.ส.จิราพร กล่าวว่า รัฐบาลหารายได้จากการเรียกเก็บภาษีจากรรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้การเก็บภาษีจากรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5% ไม่ผิด แต่สิ่งที่ทำผิด คือ ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจขูดรีดประชาชน เช่น การขึ้นค่าไฟ ค่าน้ำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลหาเงินไม่เป็น ใช้เงินมือเติบ ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม บอกว่าฝ่ายค้านวิจารณ์ไม่มีอะไรใหม่ ขอให้ทำความเข้าใจว่ารัฐบาลทำงบประมาณด้วยโครงสร้างแบบเดิม ไม่มีทิศทาง หากจะเปลี่ยนแค่ปีงบประมาณเท่านั้น 

 

   น.ส.จิราพร อภิปรายว่า ส่วนที่ฝั่งรัฐบาลกล่าวหาพรรคฝ่ายค้านเล่นการเมืองไม่รับร่างพ.ร.บ.งบฯ66  แต่ตนมองว่าหากรับร่างพ.ร.บ.งบฯ66 จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส เพราะช่วง 8 ปี พบว่ารัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ สร้างรายได้ไม่เป็น ใช้เงินไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่วางรากฐาน เมื่อต้องการสร้างรายได้ จึงรีดภาษีให้มากขึ้น

 

ขณะที่ประชาชนลำบาก หากปล่อยให้ผ่าน วิกฤตจะวนซ้ำซาก ไม่เห็นอนาคตของประเทศ  ดังนั้นขอใหเร่างพ.ร.บ.งบฯ 66 ตกไป และให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งประชาชนมาทำงบประมาณเพื่อคืนความหวังให้คนไทย

บรรยากาศการประชุมสภาเพื่อพิจารณางบฯปี 2566

 

   ขณะที่นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย อภิปรายด้วยว่า รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จัดทำงบประมาณที่สร้างภาระให้ประชาชน โดยเฉพาะแผนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ กว่า 4.5แสนล้านล้านบาท ในระยะ 10ปี  นอกจากนั้นยังพบการจัดสรรงบบูรณาการ ที่ไม่เหมาะสมและไม่สามารถวัดความสำเร็จในแต่ละโครงการ ทำให้การทำงานบูรณาการเป็นเพียงคำพูด ขาดการบูรณาการที่แท้จริง ซึ่งเป็นการซ่อนเงื่อนงบประมาณ

 

  “งบลงทุนที่แท้จริงมีเพียง 15.46%  ต่ำกว่าเป็นจริง ทั้งที่ควรให้เพิ่ม เพื่อเกิดการสร้างงาน กระตุ้นการใช้จ่ายเงิน ในระบบเศรษฐกิจ การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงในสถานกาณ์ปัจจุบัน แม้รัฐบาลจะประมาณการรายได้จากภาษี 2.49ล้านล้านบาท แต่ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา

 

การจัดเก็บไม่ตรงเป้าหมาย ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยรายจ่ายยที่สูงกว่ารายรับ สร้างภาระงบประมาณที่ต้องตั้งจ่ายคืนรายการชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย ซึ่งมีผลต่อการทำงบประมาณในปีต่อไป ทำให้หนี้สาธารณะสะสมสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ในปี 2566 ไม่พบการตั้งเงินเพื่อใช้หนี้ แต่หากรัฐบาลขาดเงินสดในมือ และจัดเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า เชื่อว่าจะใช้วิธีกู้เงินอีก 5หมื่นล้านบาท”นายไชยา อภิปราย

 

  นายไชยา อภิปรายด้วยว่าสำหรับงบกลาง ที่ผ่านมาพบว่ามีความผิดปกติ ตรวจสอบไม่ได้ อีกทั้งเหมือนกับใช้เพื่อการเมือง ทั้งนี้ตนฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาฯ ได้รับเรื่องตรวจสอบว่าใช้งบกลางไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ทั้งที่ควรจัดสรรให้เป็นงบปกติของกระทรวง คือ กระทรวง อว.  เบื้องต้นพบว่า มีกระบวนการศึกษาจากการหาผลประโยชน์ ตนรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบ 

 

 "สมัยก่อนคนหาเช้ากินค่ำ แต่ปัจจุบัน หาเช้ากินไม่ถึงค่ำ ดังนั้นการใช้งบเพื่อประโยชน์สูงสุดและเข้าถึงความเดือดร้อนประชาชน มีทางเดียว คือ เลือกเปลี่ยนรัฐบาลง่ายที่สุด เพราะตนและประชาชนทนไม่ได้กับความยากลำบากกับรัฐบาลปัจจุบันหมดเวลาของรัฐบาลลุงตู่แล้ว”