ขอรัฐทบทวนเก็บภาษีหุ้น "มาดามเดียร์" หวั่นฆ่าไก่เอาไข่

14 มิ.ย. 2565 | 07:12 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2565 | 15:10 น.

"มาดามเดียร์" ขอรัฐทบทวนเก็บภาษีหุ้น ชี้ส่งผลกระทบถึงตลาดทุนไทยในภาวะวิกฤตรุมเร้า หวั่นจะเชือดไก่เพื่อเอาไข่

วันที่  14 มิ.ย. 65 นางสาววทันยา บุนนาค  หรือ มาดามเดียร์​ ส.ส.บัญชีรายชื่อ​ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)​ โพสต์เฟสบุ๊คแสดงความเห็นว่า

 

เก็บภาษีหุ้น ... เรากำลังจะเชือดไก่เพื่อเอาไข่กันอยู่รึเปล่า?

 

•• ตื่นมาเช้านี้เจอแต่ข่าวร้ายเรื่องเศรษฐกิจ

 

•• ดาวน์โจนส์ติดลบ 876 จุด บิตคอยน์ร่วงเหลือ 2.2 หมื่นดอลลาร์ ไม่นับตลาดหุ้นไทยที่รับข่าวร้ายดิ่งลงตามเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ยุคผันผวน เงินเฟ้อหนักเป็นประวัติการณ์ในรอบ13 ปีเพราะราคาต้นทุนที่เพิ่งสูงขึ้น วิกฤตโควิดผสมกับปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลายเป็นปัญหายืดเยื้อ

 

•• ในขณะที่เอกชนไทยเตรียมออกหุ้นกู้ในปี 65 จำนวน 1.2 ล้านล้าน นั่นคงเป็นสัญญาณให้เห็นถึงการเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจผันผวนของภาคเอกชนจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ การเตรียมระดมทุนเงินจำนวนมหาศาลของเอกชนนั้นยังบอกอะไรเราอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ “ความสำคัญของตลาดทุน” ในการเป็นที่พึ่งพิงให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในยามที่ต้องพึ่งพิงตนเอง ไม่สามารถหวังพึ่งพารัฐได้

นางสาววทันยา บุนนาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ​ พรรคพปชร.โพสต์ขอรัฐทบทวนเก็บภาษีหุ้น

•• เดียร์ยังยืนยันขอให้รัฐบาลทบทวนว่า การเก็บภาษีตลาดทุนนั้น หากรัฐจะดำเนินการรัฐควรพิจารณาการเก็บภาษีแบบ Capital Gain Tax เพื่อความเป็นธรรมสำหรับนักลงทุนที่ต้องชำระค่าภาษี มา

 

•• แต่สิ่งสำคัญที่สุดก่อนที่ภาครัฐจะดำเนินการนโยบายใดก็ตามที่จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง รัฐต้องไม่ลืมคำนึงถึง “ความเหมาะสมของนโยบาย”

 

• การเก็บภาษีหุ้นที่จะส่งผลกระทบถึงตลาดทุนของประเทศไทยอย่างแน่นอนในขณะที่สภาพเศรษฐกิจและประชาชนกำลังเจอวิกฤตรุมเร้า “การเลือกผลักดันนโยบายดังกล่าวท่ามกลางวิกฤตินั่นคือสิ่งที่เหมาะสมแล้วหรือ?” เราเข้าใจว่ารัฐบาลเองก็ต่างมีภาระที่ต้องดูแลประชาชนทั่วทุกกลุ่ม แต่เม็ดเงินจำนวนประมาณ 20,000 ล้านบาทที่รัฐคาดว่าจะเก็บได้จากการรีดภาษีหุ้นกับคนรวย ที่หากเราดูมิตินี้เพียงด้านเดียวก็พอจะเข้าใจถึงเหตุผลของรัฐบาล แต่ในข้อเท็จจริงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดทุนซึ่งสุดท้ายก็จะกลายเป็นปัญหาวนกลับมาที่ประชาชนเหมือนเดิมนั้นคือสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่รัฐต้องไม่มองข้าม 
 

•• เหมือนอย่างที่เดียร์เคยนำเสนอว่า “อย่าให้ต้องเชือดไก่ เพื่อเอาไข่” กับการตัดสินใจเพียงมิติเดียว เพราะเม็ดเงินจำนวน 20,000 ล้านที่ได้มาอาจไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องเสียไป โดยเฉพาะเงินจำนวน 20,000 ล้านที่ว่านั้น สามารถลดภาระได้เพียงการลดต้นทุนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นของรัฐ(ที่มีมากมาย) ในระหว่างที่กรรมาธิการงบประมาณกำลังพิจารณาอยู่ในตอนนี้