นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้นว่า จำเป็นต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจที่เหมาะสม แม้ขณะนี้บางประเทศสถานการณ์เศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดี แต่เมื่อเจอกับความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลในเรื่องของราคาพลังงานสูงขึ้น ก็ทำให้มีผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ขณะที่เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัว จากเคลื่อนยนต์ 2 ตัวหลัก คือการส่งออก และการท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเติมเต็ม โดยมองว่าช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาไทยมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปีนี้ราว 7 ล้านคน ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้
“ก็ต้องดูตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพ หลังจากที่เราค่อยๆ ฟื้นตัว และมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน คือเศรษฐกิจต้องเติบโตต่อเนื่อง” นายอาคม กล่าว
ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขณะนี้จะผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไม่นั้น นายอาคม กล่าวว่า จะต้องดูใน 2 เรื่อง คือเรื่องพลังงานและราคาอาหารสด ซึ่งในส่วนของราคาพลังงานขณะนี้กระทรวงการคลังก็ใช้มาตรการภาษีเข้าไปช่วยพยุงราคาและช่วยเรื่องสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯด้วย เนื่องจากขณะนี้ราคาก็ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนด้านราคาอาหาร กระทรวงการคลังก็ได้เข้าไปช่วยลดภาษีนำเข้าอาหารสัตว์ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็ได้เข้าไปดูแลในเรื่องของราคาสินค้าไม่ให้ปรับเพิ่มสูงจนเกินไป
นอกจากนี้นายอาคม ยังกล่าวอีกว่า เตรียมร่วมคณะเดินทางกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Nikkei Forum เพื่อความร่วมมือในการรับมือ และก้าวข้ามผ่านความท้าทายร่วมกัน วันที่ 26-27 พฤษภาคมนี้ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลัง จะเป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูลให้กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการพูดถึงเรื่องของของความร่วมมือในภูมิภาคเป็นหลัก และแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งไทยจะเดินหน้าฟื้นฟู่เศรษฐกิจ
โดยมุ่งสู่นโยบาย BCG และจะมุ่งสู่การนำ Digital มาใช้ ซึ่งภาครัฐได้นำเทคโนโลยีมาใช้กับภาคธุรกิจ เช่น การยื่นแบบภาษีประจำปีของกรมสรรพากร และในอนาคต จะส่งเสริม Start up ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
และจะมีการพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ และสถานการณ์เงินเฟ้อที่ขยายตัวทั่วโลก ซึ่งล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ระบุว่าไทยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5%
ขณะที่การเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2ปีที่ผ่านมา ก็ได้ใช้นโยบายการเงินและการคลัง ในการเข้าไปดูแลผลกระทบและเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงการคลังได้กู้เงินมาใช้จ่าย และเมื่อโควิดคลี่คลาย ก็จะต้องกลับมามองที่นโยบายการคลัง โดยเฉพาะความยั่งยืนทางการคลัง และต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง แม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศที่กู้เงินมากที่สุดในโลกก็ตาม