“นิพนธ์”กำชับ“นายอำเภอ”จัดการสาธารณภัยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

03 ก.ค. 2565 | 09:17 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2565 | 16:36 น.

“นิพนธ์”กำชับนายอำเภอภาคใต้ตอนบนจัดการสาธารณภัยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ย้ำนโยบายความปลอดภัยทางถนน ต้องลดการตายและบาดเจ็บจากรถจยย.ให้ได้

วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ที่โรงแรมบรรจงบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการเพิ่มศักยภาพในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของผู้อำนวยการอำเภอ และหลักสูตรเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสำหรับปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง รุ่นที่ 6 จังหวัดสุราษฎร์ธานี 


พร้อมมอบนโยบายการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายอำเภอ และปลัดอำเภอ เข้าร่วมรับฟังนโยบาย

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยในระดับพื้นที่ของทุกภาคส่วน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญ ต้องเผชิญกับภัยหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติและภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน 

                              
“นายอำเภอถือเป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาของข้าราชการในอำเภอ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่คือ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่พี่น้องประชาชน เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการแต่ละระดับในการจัดการสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพ”    

นายนิพนธ์ ยังกำชับนายอำเภอ (นอภ.) ทั่วประเทศ ให้ประสานทุกภาคส่วนดำเนินการปรับปรุงด้านกายภาพและด้านอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบริเวณถนน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยทางถนนไปด้วยกัน ในการช่วยกันลดความสูญเสียชีวิตบนท้องถนน 

                          
โดยในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 22,000 ราย ก็ยังถือว่าเป็นความสูญเสียจำนวนมาก ที่เป็นภัยคุกคามที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

                                      “นิพนธ์”กำชับ“นายอำเภอ”จัดการสาธารณภัยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
 โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องลดการตายและบาดเจ็บจากรถจักรยานยนต์ให้ได้ ซึ่งมีจำนวนถึงร้อยละ 80 ของการเสียชีวิตบนท้องถนน และให้มีการบูรณาการร่วมกัน เพื่อใช้เป็นกลไกในการเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่เพื่อสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย “และภายในปี2570 คนไทยค้องเสียชีวิตบนท้องถนนไม่เกิน 12 คนต่อ 100,000 ประชากร