วันนี้ (21 ก.ค.) ในช่วงบ่ายของการประชุมสภา "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" เป็นวันที่3 เป็นคิวนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในญัตติการทุจริตต่อหน้าที่ กรณีในการใช้งบกลาง วงเงิน 2,051 ล้านบาท ของ กระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (อว.)
โดยนายประเสริฐ ระบุตอนหนึ่งว่า ตามหลักเกณฑ์แล้วการอนุมัติเงินงบประมาณเกินกว่า 100 ล้านบาท ต้องให้ ครม.อนุมัติ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง หากไม่ทำถือว่าขัดมติ ครม. ซึ่งการทุจริตงบกลางวงเงิน 2,051 ล้านบาท ตนพบว่ามีพฤติกรรมเร่งรีบ รวบรัด ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจ้าง พร้อมกับพาดพิง 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
ส.ส.เพื่อไทย ระบุว่า พฤติการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ 3 ข้อ คือ 1. มีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ ทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกันการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว 2. ทำผิดมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2552 เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และ 3. ไม่สนใจข้อทักท้วงของสำนักงบประมาณ เพราะโครงการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สนใจข้อทักท้วงของสำนักงบประมาณ
จากนั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า พบการทุจริตในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วงเงิน 368 ล้านบาท ผ่านโครงการถายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านการเกษตรและสมุนไพร โดยมีลูกน้องของพลเอกประยุทธ์ที่มีชื่อว่านาย ส. ปากเสีย ที่เป็นคนไปเจรจาขอเงิน ส่วนแบ่งจากเอเย่นล็อตเตอรี่ และได้มีการวิ่งประสานไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ได้รับงบ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตัวเอง เช่น เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา นาย ส. ได้เดินทางไปที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อไปเจรจาผลประโยชน์ แต่โชคดีที่อธิบการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ไหวตัวทัน
นอกจากนี้ ส.ส.เพื่อไทย ยัง กล่าวด้วยว่า ยังมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน บุคคลภายนอก นักการเมือง รวม 4 คนที่มีอักษรย่อ อธิการ ฆ. ดร.ที่มีชื่อจริง น. และมีชื่อเล่นว่า ดร.แจง ดร.ส. ซึ่ง 3 คนนี้เป็นกลุ่มคนจาก จ.สกลนคร ที่เพิ่งย้ายมาอยู่โคราช และคนที่ 4 เป็นนักการเมืองชื่อ นาย ส. ปัจจุบันเป็นคนของพรรคการเมืองหนึ่งที่สนับสนุนนายกฯ
นายประเสริฐ อภิปรายลงรายละเอียดถึงโครงการอบรมดังกล่าว ว่า ตามโครงการวิทยากรบรรยายต้องอบรม 2 วัน เฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมงแต่อบรมจริงแค่ 1 วัน ซึ่งจ่ายเงิน 222,000 บาท และทุจริตไปอีก 222,000 บาท ส่วนวิทยากรภาคปฏิบัติต้องอบรม 2 วันแต่อบรมจริงแค่ 4 ชั่วโมง จ่ายเงินจริงเพียง 1,184,000 บาท ทุจริตไป 5,920,000 บาท
ส่วนค่าอาหาร 4 มื้อ กินจริง 1 มื้อ มื้อละ 150 บาท เบิกได้ 5,550,000 บาท หายไป 16 ล้านบาท ส่วนเอกสารที่จะต้องแจกนั้นไม่มีการแจกให้กับผู้ร่วมอบรมแต่ได้มีการเบิกจ่ายไป 3,700,000 บาท รวมถึงค่าเช่าที่พักก็ไม่มีการพักจริง และได้เบิกเงินไป 18.5 ล้านบาท
ทราบมาว่า ได้มีการซื้อรีสอร์ตแห่งหนึ่งใกล้สถานที่อบรมเพื่อออกเอกสารรับรองเท็จโดยเก็บบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของประชาชนไปสร้างเอกสารเบิกเงิน ส่วนค่าวัสดุในการฝึกอบรม ปัจจัยในการผลิต ค่าบำรุงมหาวิทยาลัย และค่าบริหารโครงการไม่มีการดำเนินการแต่มีการเบิกเงินออกไป
ดังนั้น ครม.ต้องร่วมรับผิดชอบเพราะร่วมกันลงมติใช้งบกลางให้หลุดไปอยู่ในมือผู้ทุจริตและมีเงินทอน 600 ล้านบาท ได้แจกแจงการใช้งบประมาณ 368 ล้านบาท ผมตั้งข้อสังเกตว่าค่าสนับสนุนวิจัยการผลิตมีตัวเลขถึง 258 ล้านบาท และค่าบำรุงมหาวิทยาลัย 15 ล้านบาท ค่าบริหารโครงการ 18 ล้านบาท ที่ใช้เป็นประมาณในการจัดสัมมนาเป็นเวลา 2 วัน
"การนำงบประมาณลงพื้นที่เป็นเรื่องดี แต่ประชาชนต้องได้ประโยชน์ พล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่ายกลับใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ และมีการเกณฑ์คนเข้ามาอบรมที่ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกร ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว พร้อมทั้งได้ยื่นคำร้องไปที่คณะกรรมาธิการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ สภาฯ ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย และขอให้อีก 3 มหาวิทยาลัยติดตามการใช้งบประมาณ รวมถึงยื่นเรื่องให้ พล.ต.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไท ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ตรวขสอบด้วยและหลังจากการอภิปรายฯเสร็จสิ้นตนจะยื่นเรื่องไปยังป.ป.ช.ต่อไป"นายประเสริฐ กล่าว