วันที่ 22 ก.ค.2565 พลเอก สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก เปิดเผยถึงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 21 กรกฎาคม 2565 เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของกองทัพบกในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งมีข้อมูลบางประเด็นที่มีความคลาดเคลื่อน
กองทัพบก ขอเรียนข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ชายแดน ไทย-กัมพูชา ในความรับผิดชอบของ กองทัพภาคที่ 1 โดยกองกำลังบูรพา เพื่อให้สังคมได้รับทราบว่า ไทย-กัมพูชา มีการแบ่งเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้ลักษณะแบ่งตามธรรมชาติตามภูมิประเทศ เช่น ลำน้ำ หรือ ร่องน้ำ และการใช้แผนที่
ซึ่งในการปฏิบัติที่ผ่านมา มีการอ้างสิทธิ์ในบางพื้นที่ของแต่ละฝ่าย เนื่องจากไทยและกัมพูชายึดถือแผนที่ที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ ในความสัมพันธ์อันดีของสองประเทศ ทำให้ในพื้นที่ชายแดน เจ้าหน้าที่ของแต่ละส่วน ต่างทำหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยของประเทศตนอย่างดีที่สุด ทำให้เกิดความเรียบร้อยในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเด็นที่เป็นความไม่เข้าใจ กองทัพบกขอให้ข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การที่ประชาชนไม่สามารถเดินทางเข้าพื้นที่ชายแดนได้ เนื่องจากพื้นที่ชายแดน ไทย-กัมพูชา มีหลายพื้นที่เป็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน ที่ไทยและกัมพูชายึดถือแผนที่คนละฉบับ ไม่สามารถระบุแนวเส้นเขตแดนที่แน่นอนชัดเจนได้ โดยมีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อปี 2543 เป็นข้อตกลงร่วมกันไว้สาระสำคัญประการหนึ่ง คือ
ห้ามมิให้ฝ่ายใดเข้าไปใช้ประโยชน์ หรือทำให้ลักษณะภูมิประเทศ เปลี่ยนแปลงไป จนมีผลกระทบต่อการสำรวจกำหนดแนวเส้นเขตแดน ซึ่งปัจจุบัน ไทยและกัมพูชา อยู่ระหว่างร่วมกันสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมกัน
และหลายพื้นที่รวมถึงบริเวณพื้นที่ชายแดนด้านตะวันออกของ ถนนศรีเพ็ญ บ้านป่าไร่ใหม่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่ยังไม่สามารถกำหนดแนวเส้นเขตแดนที่ยืนยันตกลงเห็นชอบร่วมกันได้
ประเด็นที่ 2 การพบเห็นเจ้าหน้าที่จำนวนมากวางกำลัง หรือจัดตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ ของกำลังป้องกันชายแดน ซึ่งเป็นการวางกำลังตามหลักทางยุทธวิธีให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่และภูมิประเทศ ประกอบกับพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาด้านจังหวัดสระแก้ว มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ ผืนดินติดต่อกัน
บางส่วนมีลำคลองธรรมชาติขนาดเล็กเป็นเส้นแบ่งเขตแดน หน้าแล้งเมื่อน้ำลดลงสามารถลุยข้ามได้ จึงง่ายต่อการลักลอบข้ามแดน และกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในห้วงที่ผ่านมา ที่รัฐบาลให้เข้มงวดป้องกันการลักลอบข้ามแดนของแรงงานต่างด้าว ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น
ดังนั้นบางพื้นที่ที่ล่อแหลมหรือง่ายต่อการข้ามแดนจึงจำเป็นต้องวางกำลังไว้หนาแน่นกว่าบริเวณอื่น
ประเด็นที่ 3 กรณีความสงสัยว่ามีการทุจริตหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่สร้างอิทธิพลในพื้นที่ หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย หากพบความผิดปกติ กองทัพบกจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนเพื่อให้ความเป็นธรรม หากมีกำลังพลผู้ใดกระทำผิดก็จะลงโทษทันที
ประเด็นที่ 4 การที่กองทัพบกขอใช้ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ หลายพันไร่นั้น ดำเนินการมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพื่อนำมาใช้จัดตั้งหมู่บ้านเพื่อความมั่นคงตามแนวชายแดนจัดสรรให้ประชาชนใช้ทำกินชั่วคราวโดยมิได้ให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด สำหรับในบางพื้นที่ที่อาจมีประชาชนจำนวนน้อยที่ทำกินในที่ดินมาแต่ดั้งเดิม ก็จะต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ประเด็นที่ 5 ปัญหาทุ่นระเบิดกับระเบิดที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ชายแดน เนื่องจากเคยเป็นพื้นที่การสู้รบในอดีต ซึ่งมีการดำเนินการเก็บกู้มาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง โดยกองกำลังป้องกันชายแดนจะแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบถึงอันตรายไว้ก่อนด้วยความห่วงใยและเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากจนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีประชาชนตามแนวชายแดนได้รับอันตรายจากการเหยียบกับระเบิด หรือเกิดการระเบิดขณะทำการเกษตร แม้ห้วงเวลาการสู้รบจะผ่านมานานแล้วก็ตาม
ประเด็นที่ 6 การที่มีกำลังทหารของประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามายังพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรนำคลิปภาพมาเปิดในช่วงการอภิปรายนั้น เป็นการทำหน้าที่ของทหารกัมพูชาเช่นเดียวกันกับฝ่ายเรา ซึ่งมีการประสานความร่วมมือกันในการป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดน
ส่วนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ระบุว่าไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่ได้ตามที่มีการอภิปรายนั้น ขณะนี้ปัญหาดังกล่าวได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาด้วยกลไกของจังหวัดสระแก้วและคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา ในระดับท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ราษฎรตามกระบวนการแล้ว
กองทัพบกขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนด้วยความเข้มแข็งเพื่อปกป้องบ้านเมือง ดูแลประชาชน ทำงานอย่างสุจริตเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ