"สุพัฒนพงษ์" สอนมวยฝ่ายค้าน ปมบริหารพลังงาน-ค่าไฟแพง

22 ก.ค. 2565 | 12:53 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2565 | 20:01 น.

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 รองนายกฯ "สุพัฒนพงษ์" ลุกสอนมวยฝ่ายค้าน ปมการบริหารพลังงาน ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า กำลังการผลิตส่วนเกิน ยันสูตรเหมือนกัน แต่ฝ่ายค้านคำนวณแหล่งผิด งัดสูตรคำนวณมาโชว์ พร้อมเปิดตัวเลขห่างกันเพียบ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันสุดท้าย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงฝ่ายค้าน ถึงการดำเนินนโยบายด้านการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ ว่า เรื่องของค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment) กำลังการผลิตส่วนเกิน ซึ่งมีการยกตัวอย่างสูตรการคำนวณหลายวิธีที่แตกต่างกัน 

 


ทั้งนี้ รัฐบาลขอชี้แจงว่า สูตรในการคำนวณค่าดังกล่าวของทางฝ่ายค้าน และรัฐบาลคำนวณเป็นสูตรเดียวกัน แต่ผลลัพธ์ต่างกัน โดยฝ่ายค้านคำนวณออกมาได้ 55% ส่วนรัฐบาลได้ 35% เพราะต่างกันตรงกำลังการผลิตที่เอามาใช้คนละตัวกัน

 

โดยตัวเลขฝ่ายค้าน เป็นการนำกำลังการผลิตรวมของโรงงานไฟฟ้าทุกประเภทเชื้อเพลิง แต่รัฐบาลใช้กำลังการผลิตที่คำนวณจากกำลังการผลิตที่พึ่งพาได้ 100% ใน 1 วัน

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

หมายความว่า ประเภทเชื้อเพลิงเขาไม่เหมือนกัน จะนำกำลังการผลิตของโรงงานประเภทก๊าซที่สามารถผลิตได้ 24 ชม. มาบวกตรง ๆ กับกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งผลิตได้ในช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้น คงไม่ได้ ต้องมีการลดทอนลงไป 

 

“เรื่องนี้หารือกันได้ เข้าใจในความหวังดี และความห่วงใยในกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นว่ามันมีที่มาต่างกันอย่างไร ซึ่งรัฐบาลกำลังปรับกำลังการผลิตลดลงจาก 5 หมื่นกว่าเมกกะวัตต์ ตามแผนในปี 2565 ลดลง 3,000 เมกกะวัตต์มาแล้ว และเมื่อคำนวณกำลังการผลิตที่พึ่งพาได้ และมีเหตุผล ตัวเลขคือ 35%”

 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า แม้ตัวเลข 35% จะยังดูสูงกว่า 15-20% แต่ก็เป็นเรื่องของการพยากรณ์ ซึ่งจำเป็นต้องพยากรณ์ล่งหน้าเป็นระยะเวลาตามแผน ซึ่งใช้ตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งสถาบันต่าง ๆ มาประกอบ ก่อนจะพยากรณ์ออกไป

 

โดยไม่มีใครทราบก่อนหน้านี้ ว่าจะมีโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างตอนนี้ และกรณีนี้ก็เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ก็มีตัวเลขเหลือสูงด้วยกันทั้งสิ้น ตั้งแต่ 40 – 50% คล้าย ๆ ประเทศไทย

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“ที่มาพูดไม่ได้แก้ตัวแทนรัฐบาล แต่จะอธิบายว่ารัฐบาลทุก ๆ คนคิดแบบนี้ ทำแบบนี้ และทำมาตลอด และอยากบอกสมาชิกว่า กำลังการผลิต และค่าพร้อมจ่ายที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ มันเกิดจากกำลังการผลิตที่มีอยู่ปัจจุบัน หมายความว่ามันคือกำลังการผลิตที่ได้อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ พอลงไปดูในรายละเอียดพบว่า ล้วนแต่เป็นกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นในอดีต ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด”

 

รองนายกฯ ระบุว่า ในส่วนที่ได้อนุมัติในระยะเวลาที่ผ่านมา ตอนนี้กำลังดำเนินการในขั้นตอน ยังไม่แล้วเสร็จ โดยทุกอย่างทำด้วยหลัก ด้วยเกณฑ์ของการคำนวณ มีที่ไปที่มา มีเหตุผล และเกิดขึ้นทั่วโลก อย่าได้กล่าวหาใครทำอะไรผิดอย่างไร คิดว่าเรื่องนี้ทำมาต่อเนื่องทุกรัฐบาล

 

ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 6 โรงที่ฝ่ายค้านอภิปรายว่า ไม่เดินเครื่องนั้น เป็นโรงไฟฟ้าที่ถูกคัดแล้วให้ชะลอ เป็นโรงไฟฟ้าเก่าที่จะเตรียมปลดระวาง เพราะมีประสิทธิภาพไม่ได้ และสิ้นเปลือง ถือเป็นเรื่องเดิมที่ดำเนินการก่อนนายกฯ เข้ามาดำรงตำแหน่งด้วย

 

ขณะที่ค่า FT สูงนั้น รองนายกฯ ชี้แจงประเด็นนี้ว่า อยากให้ไปดูย้อนหลังในวันที่นายกฯ เข้ามาดำรงตำแหน่ง ก็ได้รับค่าไฟฟ้า 3.80 - 3.90 บาทต่อหน่วย เป็นค่า FT ที่สะสมกันมามากกว่า 1.50 บาทต่อหน่วย ในระยะเวลา 3-4 ปีก่อนที่นายกฯ เข้าดำรงตำแหน่ง และในระหว่างดำรงตำแหน่ง 7 ปีกว่า ๆ ค่า FT ไม่มีขึ้นดเลย เพิ่งจะมาขึ้นช่วงหลัง จากการนำก๊าซธรรมชาติมากขึ้น

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

ส่วนกรณีที่อภิปรายว่ามีเรื่องของข้อพิพาทกับบริษัท เชฟรอน และโทลทาล นั้น ยืนยันว่า เป็นคนละเรื่องกัน โดยกรณีของเชฟรอน และโทลทาล นั้นเป็นเรื่องของการรับสัมปทานเดิม พอมีการประมูลและไม่ชนะก็จำเป็นต้องออกไป 

 

แต่สัญญาที่เซ็นกับรัฐบาลเมื่อ 50 ปีที่แล้ว มีข้อโต้แย้งขึ้นมา เพราะรัฐบาลมีเงื่อนไขว่าแท่นขุดเจาะที่รัฐบาลเลือกใช้ต่อนั้น บริษัทต้องมีภาระรื้อถอนในอนาคตแม้ว่าจะเป็นเวลาที่บริษัทไม่ได้รับสัมปทานอยู่ พร้อมวางเงินประกันด้วย ซึ่งเอกชนไม่ยอมดำเนินการเรื่องนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการหยุดผลิตหรือไม่หยุดผลิต

 

ในเรื่องปริมาณการผลิตที่ลดลง ยืนยันว่า เป็นเรื่องปกติ ในช่วงท้ายของสัมปทาน การผลิตที่จะมีอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องตลอดเวลา ในเมื่อบริษัทแพ้การประมูลการลงทุนจึงลดลง และมีการเจรจาขอเข้าไปขุดเจาะ ซึ่งได้ข้อสรุปเมื่อปลายปีที่แล้ว และรัฐบาลได้เตรียมการเพิ่มในแหล่งอื่นทดแทนด้วย หากจะขาดเชื่อว่าคงมีไม่มาก ส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติก็นำเข้ามานานแล้ว

 

รองนายกฯ ยังกล่าวว่า ในกรณีของการกล่าวหาว่ามีการไปลงทุนซื้อบริษัทในประเทศเยอรมันนั้น ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่ตนเองนั่งเป็นผู้บริหารของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC การดำเนินการเจรจาตกลงเกิดขึ้นหลังจาก ตนเองเกษียณอายุไปแล้ว และการเป็นบริษัทเอกชน ก็ไม่ต้องของรัฐบาลหรือครม. ทำได้ตามอำนาจบริษัทได้เลย