จีนสุดล้ำ! เร่งพัฒนา "เรือดำน้ำบิน" ทำลายระบบป้องกันเรือบรรทุกเครื่องบิน

14 ส.ค. 2565 | 06:54 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2565 | 14:04 น.

“จีน”สุดล้ำ! เร่งพัฒนาโดรนใต้น้ำบินในอากาศได้ หรือ “เรือดำน้ำบิน” หวังตรวจสอบทุ่นระเบิดใต้น้ำ ทำลายระบบป้องกันของกองเรือบรรทุกเครื่องบิน

วันนี้(14 ส.ค.65) พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลกรณี จีนกำลังพัฒนาโดรนใต้น้ำที่สามารถบินในอากาศด้วยความเร็วสูง หรือ เรือดำน้ำบิน (Flyng Submarine หรือที่เรียกว่า Transmedia Vessel) 


โดยมีรายงานข่าวจากเว็บไซต์ EurAsian Times ที่อ้างถึงรายงานของเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (SCMP) เมื่อวันที่ 8 ส.ค.65 ระบุว่า

 

 

ศาสตราจารย์ Ang Haisong กับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยการบินและอวกาศนานกิง ที่อยู่ทางตะวันออกของจีน เปิดเผยถึงการสร้างและทดสอบโดรนใต้น้ำต้นแบบที่สามารถบินในอากาศด้วยความเร็วสูง เพื่อวัตถุประสงค์ทั้งในด้านพลเรือนและการทหาร อาทิ การตรวจสอบทุ่นระเบิดใต้น้ำ ฯลฯ รวมทั้งเป็นหนึ่งในวิธีการที่ถูกที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำลายระบบป้องกันของกองเรือบรรทุกเครื่องบิน

นักวิจัยอธิบายว่า โดรนขับเคลื่อนด้วยใบพัดสี่ใบพัด รวมถึงใบพัดคู่หนึ่งที่ด้านหน้าเอียง ทำให้สามารถเข้าใกล้เป้าหมายใต้น้ำและคงอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน ในขณะที่โดรนมีปีกขนาดใหญ่สองปีกที่พับไว้ด้านหลังเมื่อร่อนลงใต้น้ำ ทำให้มีรูปทรงของเรือดำน้ำที่เพรียวบาง อันจะช่วยลดแรงต้านและให้ความคล่องตัวสูง โดยปีกจะขยายออกเมื่อโดรนไปถึงผิวน้ำ ทำให้สามารถบินด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. ซึ่งเป็นอัตราสองเท่าของโดรนธรรมดาที่ขับเคลื่อนด้วยใบพัด

                จีนสุดล้ำ! เร่งพัฒนา \"เรือดำน้ำบิน\" ทำลายระบบป้องกันเรือบรรทุกเครื่องบิน
Ji Wanfeng ศาสตราจารย์แห่ง Naval Aviation University ในมณฑลซานตง และเพื่อนร่วมงานได้ประเมินว่าระบบป้องกันหลายชั้นของเรือรบสมัยใหม่ สามารถโจมตีภัยคุกคามที่เข้ามาได้ประมาณครึ่งหนึ่ง  


เช่น เครื่องบิน ขีปนาวุธ หรือโดรนแบบดั้งเดิม  แต่เรือทรานส์มีเดีย (Transmedia Vessel) สามารถทะลุผ่านชั้นการป้องกันเหล่านี้ได้ เนื่องจากมันสามารถดำน้ำใต้น้ำได้ เมื่อตรวจพบโดยเรดาร์และกลับพื้นผิวเพื่อหลบเลี่ยงระบบโซนาร์ของเรือ  


ทั้งนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ก็ให้ความสำคัญต่อกรณีดังกล่าว โดยเคยมีการศึกษาความเป็นไปได้ของแนวคิด Submersible Aircraft และได้ตีพิมพ์เรื่องนี้ ในปี 2010 (พ.ศ.2553) 


 ( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://eurasiantimes.com/flying-submarines-china.../... และเว็บไซต์ https://www.thesun.co.uk/.../china-tests-flying.../ )