กรณีที่ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ออกมาเปิดเผยถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นคำร้องผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ว่า หลังได้รับรายชื่อ ประธานรัฐสภาได้ตรวจสอบรายชื่อทั้ง 172 รายชื่อ เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ เพราะต้องมีรายชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
โดยพบว่า ใน 172 รายชื่อ มีลายเซ็นที่ไม่ตรงกับตัวอย่างที่สมาชิกเคยให้ไว้กับเลขาธิการสภา จำนวน 5 ราย ซึ่งได้ตรวจสอบกับทั้ง 5 ราย และได้ทำบันทึกยืนยันรายชื่อกลับมาแล้วว่า ได้ลงชื่อสนับสนุนจริง ดังนั้น นายชวน จะได้นำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ในวันจันทร์ที่ 22 ส.ค.นี้นั้น
แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า กรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นคำร้องผ่านประธานรัฐสภา ให้ส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม หากเรื่องมาถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันจันทร์ที่ 22 ส.ค.2565 ก็คาดว่าจะมีการนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ในวันพุธที่ 24 ส.ค.นี้
โดยจะเป็นการพิจารณาว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ หากมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา ศาลก็จะพิจารณาด้วยว่า จะมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไว้ก่อนหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ชุดปัจจุบัน ที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยปมปัญหาการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ครบ 8 ปีแล้วหรือยัง ประกอบด้วย
1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเลือกมาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด
2.ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
4.นายวิรุฬห์ แสงเทียน รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด
6.ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์
7.ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์
8.นายปัญญา อุดชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ และ
9.นายนภดล เทพพิทักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อ วันที่ 17 ส.ค.2565 ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาฯ เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์
โดยสาระสำคัญในหนังสือ ประกอบไปด้วย ข้อ 1.การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ข้อ 2.รัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปี โดยให้นับระยะเวลาต่อเนื่องและมิได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น
ข้อ 3.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และ 7/2562 กรณีมาตรา 264 ให้รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และ 24/2564 เรื่องการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังสามารถทำได้หากมิใช่โทษทางอาญา
และ ข้อ 4.เจตนารมณ์ของการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่
นพ.ชลน่าน ระบุว่า เชื่อว่าวันที่ 22 ส.ค. สภาฯ จะส่งคำร้องของฝ่ายค้านไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ และมั่นใจว่า ศาลจะรับไว้พิจารณาอย่างแน่นอน แต่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการวินิจฉัยได้ ศาลคงให้ความสำคัญ เร่งกระบวนการวินิจฉัย