ผลโหวต "8 ปีนายกฯ" เสียงประชาชน ท่วมท้น “บิ๊กตู่” ไม่ควรอยู่ต่อ

22 ส.ค. 2565 | 03:26 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2565 | 10:33 น.

เปิดผลโหวต “เสียงประชาชน” เรื่อง "8 ปีนายกฯ" เสร็จสิ้น เสียงโหวตท่วมท้น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ควรอยู่ต่อ ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี โดยมีผลโหวตสูงถึง 93.17%

เครือข่ายนักวิชาการ "เสียงประชาชน" จาก 8 มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับสื่อทีวีดิจิทัลและออนไลน์ 8 สื่อ จัดให้มีการโหวตเสียงประชาชน ครั้งที่ 2 เรื่อง "8 ปีนายกฯ" ทางโทรศัพท์มือถือ ระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีกติกาคือ โทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง หรือหนึ่งเลขหมาย โหวตได้หนึ่งครั้ง

 

ล่าสุด การโหวต “เสียงประชาชน” เรื่อง "8 ปีนายกฯ" ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยผลโหวตมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • จำนวนการโหวตทั้งหมดคือ 374,063 โหวต
  • การโหวตในประเทศไทย 369,484 โหวต 
  • จากต่างประเทศ 4,579 โหวต 
  • โดยมีการโหวตที่ไม่สมบูรณ์อีก 1,438 ครั้ง

คำถาม “การวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในฐานะประชาชน ท่านเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปีหรือไม่?”

 

ผลการโหวต “เสียงประชาชน” คือ 

  • พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่ควร” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี จำนวน 348,511 โหวต คิดเป็น 93.17% 
  • พล.อ.ประยุทธ์ “ควร” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี จำนวน 25,552 โหวต คิดเป็น 6.83%

สำหรับการโหวต “เสียงประชาชน” นี้ไม่มีผลใด ๆ ในทางกฎหมาย และไม่สามารถสรุปได้ว่า ประชาชนทั้งประเทศ 93.17% เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่ควร” เป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี เพราะนี่คือผลการโหวตของประชาชนที่มาโหวตจากโทรศัพท์มือถือจำนวน 374,063 หมายเลขเท่านั้น 

 

แต่สามารถสรุปได้ว่า จากการเปิดให้ประชาชนโหวต โดยฝ่ายที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี และฝ่ายที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี มีโอกาสในการโหวตอย่างเสมอกัน ผลการโหวตคือ 93.17% เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่ควร” เป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี

 

ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เกินกว่าวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่? เป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ของการโหวต “เสียงประชาชน” คือการเปิดให้ประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็น โดยใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีความสะดวก อยู่ที่ใดก็โหวตได้ไม่ต้องเดินทาง และไม่มีค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระ

 

แม้ว่าการโหวต “เสียงประชาชน” ครั้งที่สอง จะมีผู้โหวตน้อยกว่าครั้งแรกเนื่องจากคำถามมีความซับซ้อนกว่า ทั้งยังดำเนินการในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่จำนวนการโหวต 374,063 ครั้งถือว่าเป็นจำนวนการเข้าร่วมทางออนไลน์ที่มากที่สุดอีกครั้ง จะเป็นรองก็เพียงการโหวต “เสียงประชาชน” ครั้งแรกที่มีผู้โหวต 524,086 โหวต เท่านั้น 

 

เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน และทีวีดิจิตอลและสื่อออนไลน์ที่ร่วมโครงการ ขอขอบพระคุณประชาชนทุกท่านที่มาร่วมโหวต และขอบคุณสื่อต่าง ๆ อื่น ๆ ทั้งหมดที่ช่วยประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำให้ “เสียงประชาชน” ได้ดังขึ้นมาในประเทศไทยของเรา เพื่อจะนำไปสู่การฟัง “เสียงประชาชน” ให้มากขึ้น และพัฒนาไปสู่การมี “ประชาธิปไตยโดยตรง” ให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต