น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันว่าภายใต้กฎหมายปัจจุบัน การทำงานของรัฐบาลทุกกระทรวงและหน่วยงงานยังคงดำเนินตามปกติไม่มีสะดุด
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่ง
โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 ได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุม APEC Health Week ขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการประชุมที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขเอเปคที่หลากหลาย
ส่วนในวันที่ 25-26 สิงหาคม 2565 จะเป็นการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12 (APEC High Level Meeting on Health and the Economy) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมทั้งรูปแบบออนไลน์และออนไซต์
“นายอนุทิน จะเป็นประธานในการประชุมระดับสูงว่าด้วยสาธารณสุขฯ และร่วมหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งจะเป็นแสดงถึงความร่วมมือด้านสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ในการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ เพิ่มการลงทุนในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพโลก และยังสนับสนุนบทบาทที่โดดเด่นขึ้นของไทยในเวทีนานาชาติ" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ทั้งนี้ที่ประชุมระดับสูงว่าด้วยสาธารณสุขฯ จะหารือและร่วมกันมีข้อสรุปใน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
1. การสร้างสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยเน้นการดำเนินงานตามมาตรการทางด้านสาธารณสุข และการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและตอบโต้ต่อภัยคุกคามสุขภาพรวมทั้งโรคระบาด สร้างเสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพและการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีน เครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยโรค และยารักษาโรค ในการป้องกันและรักษาโควิด 19 และโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อป้องกันผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ
2. การเพิ่มการลงทุนในด้านความมั่นคงด้านสุขภาพโลกโดยเฉพาะการเสริมสร้างขีดสมรรถนะด้านการป้องกัน ตรวจจับและตอบโต้โรคระบาด การเสริมสร้างระบบสุขภาพให้เข้มแข็งและการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ระบบสาธารณสุขมีความพร้อมรับมือต่อภาวะคุกคามด้านสุขภาพและมีความยืดหยุ่นต่อวิกฤติการด้านสาธารณสุข และสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่เพิ่มประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ
3.ความร่วมมือที่จะเกิดรูปธรรมระหว่างเขตเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ