วันที่ 5 ก.ย.2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อขอให้ไต่สวน สอบสวนนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา และนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ที่ร่วมกันแถลงข่าวจับมือทางการเมือง (อันมิใช่การการแถลงว่าเป็นการรวมพรรค)
โดยนายกรณ์จะเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคชาติพัฒนา และอาจเป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนาในอนาคต ทั้งๆที่ตามกฎหมายนายกรณ์ ยังมีสถานะเป็นสมาชิกและหัวหน้าพรรคกล้าอยู่
การที่ประธานพรรคชาติพัฒนา ยินยอมให้นายกรณ์ ซึ่งยังมิได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกและหัวหน้าพรรคกล้าก่อนนั้น ชี้ให้เห็นว่า พรรคชาติพัฒนาอาจเข้าข่ายยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้ พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตาม ม.28 แห่ง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่
ทั้งนี้ หาก กกต.วินิจฉัยว่ามีความผิดจริง ซึ่งตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ม.92(3) บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการกระทำเช่นนี้ อาจเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองดังกล่าวกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตาม ม.28 จะเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องดำเนินการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวต่อไปได้
ในขณะเดียวกัน การที่นายกรณ์ แถลงยืนยันต่อหน้าสื่อมวลชนว่า ตนมาแถลงข่าวเกี่ยวกับการดําเนินกิจกรรมของพรรคของพรรคชาติพัฒนา เป็นการมาในฐานะส่วนตัว นั้น จึงอาจเป็นการชี้ได้ว่า นายกรณ์ ยังมิใช่สมาชิกพรรคชาติพัฒนา แต่กลับมาร่วมกระทําการ อันมีลักษณะเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่า โดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
อันเป็นการฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตาม ม.29 แห่ง พรป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ซึ่งอาจมีความผิดตาม ม.108 ซึ่งต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 1 – 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นได้
ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจำต้องนำความมาร้อง กกต.เพื่อให้วินิจฉัยกรณีดังกล่าว เพื่อเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองต่อไป