เปิดผลประเมิน“เลือกตั้งท้องถิ่น”คนสนใจเทศบาลมากสุด กทม.น้อยสุด

28 ก.ย. 2565 | 09:52 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2565 | 17:00 น.

“สถาบันพระปกเกล้า”เปิดเผยผลประเมิน “เลือกตั้งท้องถิ่น” คนสนใจเทศบาลมากสุด กทม.น้อยสุด ชี้ซื้อเสียงยังมีอิทธิพลจูงใจประชาชน แนะกกต.ชงแก้ก.ม.ให้เลือกตั้งท้องถิ่นล่วงหน้า-นอกราชอาณาจักรได้

วันนี้(28 ก.ย.65) สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ได้เผยแพร่ผลการประเมินการจัดให้มีการ “เลือกตั้งท้องถิ่น” ทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 


ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ที่มีการเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัด ผู้เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้ง อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต.จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นต้น ผลการประเมินตามมาตรวัดตั้งแต่ 0-10 คะแนน โดยที่ 0 คะแนน หมายถึง ไม่สนใจเลย และ 10 คะแนนหมายถึง มีความสนใจมาก 

พบว่า ค่าเฉลี่ยความสนใจของประชาชนต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ที่ในระดับเกินกว่า 7 คะแนน โดยการเลือกตั้ง “เทศบาล” มีค่าเฉลี่ยความสนใจของประชาชนอยู่ที่ 7.96 คะแนน อบต. 7.78 คะแนน อบจ. 7.36 คะแนน พัทยา 7.29 คะแนน และกรุงเทพมหานคร 6.83 คะแนน 

 

โดยประชาชนเกือบทั้งหมดทราบถึงวันจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นแต่ละประเภท ส่วนที่รู้ว่าหากมีการแจ้งเบาะแสการทุจริตอาจได้รับเงินรางวัลในการแจ้งเบาะแส มีเพียง ร้อยละ 37.6 

ขณะที่ประชากรตัวอย่างร้อยละ 70 ยืนยันว่า จะไม่เลือกผู้สมัครที่ซื้อเสียง ส่วนร้อยละ 30 ไม่แน่ใจ สะท้อนว่าการซื้อเสียงยังมีอิทธิพลจูงใจต่อประชากรกลุ่มตัวอย่างได้บางส่วน 


ส่วนการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนว่า การลงคะแนนเสียงจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตให้ดีขึ้น พบว่า ในส่วนของอบจ. และ อบต.ผู้ตอบค่อนข้างเห็นด้วย แต่ในส่วนของเทศบาลมากกว่าร้อยละ 50 ไม่ค่อยเห็นด้วย 


ส่วนความพึงพอใจในการจัดการเลือกตั้ง พบว่า มีระดับความพึงพอใจที่ค่าเฉลี่ยสูงกว่า 7 คะแนน อยู่ในช่วง 8-10 คะแนน สำหรับด้านความคาดหวังต่อผลการเลือกตั้ง ประชากรกลุ่มตัวอย่างในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ มองว่าจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมบ้างเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 40 โดยประมาณ ขณะที่ 160 มองว่าแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม สะท้อนว่าประชากรกลุ่มตัวอย่างอาจไม่ได้คาดหวังกับความเปลี่ยนแปลงมากนัก  


ทั้งนี้ ในรายงานการประเมินผลดังกล่าว ยังได้มีข้อเสนอแนะว่ากกต.ควรปรับปรุงแนวทางในการปฏิบัติงานของกรรมการประจำหน่วยให้ถูกต้องและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอนเอกสารที่ไม่จำเป็นลง เน้นการทำงานที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาใช้สิทธิ และประชาชนที่สนใจเข้าสังเกตการณ์ เพิ่มการอำนวยความสะดวกกับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ และประชาชนที่ต้องออกไปทำงานหรือศึกษานอกพื้นที่ 


ปรับปรุงข้อกฎหมายในการจัดการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และนอกราชอาณาจักรในกรณีเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะกฎหมายปัจจุบันไม่บัญญัติให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมีการเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกราชอาณาจักร 


พิจารณานำการลงคะแนนเสียงที่นอกเหนือจากการลงคะแนน ณ สถานที่เลือกตั้ง เช่น การลงคะแนนโดยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์การลงคะแนนออนไลน์หรือการนำเทคโนโลยี blockchain มาใช้ ทบทวนปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยควรเป็นคณะกรรมการที่มีการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการติดตามการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องเต็มเวลา คล้ายกกต. ประจำจังหวัดในอดีต