ปิดฉากคดี 8 ปี นายกฯ วันนี้ (30 ก.ย.65) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ครบ 8 ปี เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ ปี 2560 คือ เมื่อรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้วันที่ 6 เม.ย.2560
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยปมปัญหาการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ประกอบด้วย
1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเลือกมาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 2.ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 4.นายวิรุฬห์ แสงเทียน รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 6.ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 7.ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 8.นายปัญญา อุดชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ และ 9.นายนภดล เทพพิทักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ
คดีนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งคำร้องของฝ่ายค้าน มาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
โดยฝ่ายค้านมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2565 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และกรณี “8 ปี นายกฯ” ศาลเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและหลักฐานเพียงพอให้พิจารณาวินิจฉัยได้ จึงให้ยุติการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561มาตรา 58 วรรคหนึ่ง
สำหรับคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 และมีมติ 5 ต่อ 4 สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน รวมไปถึงให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ. ในขณะนั้น ยื่นคำชี้แจงด้วย
ขณะที่วันที่ 8 ก.ย 2565 ศาลได้มีคำสั่งให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 ก.ย.2561 ซึ่งมีวาระการประชุมรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 ก.ย.2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมตรวจทานแล้ว โดยไม่มีการแก้ไขให้กับศาลภายในวันที่ 13 ก.ย.
โดยผู้เกี่ยวข้องทุกคนก็ได้ส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้กับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
และศาลก็ได้นัดลงมติวินิจฉัยในวันศุกร์ที่ 30 ก.ย.2565 ซึ่งนับแต่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง จนถึงวันที่ศาลนัดวินิจฉัย รวมระยะเวลาในการพิจารณาคดีทั้งสิ้น 38 วัน