คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย แถลงข่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ทั้งระบบทั่วประเทศอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นที่ภาคอีสาน ซึ่งประสบกับน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างรุนแรงทุกปี ทำความเสียหายในด้านเศรษฐกิจมหาศาลทุกปี ไทยสร้างไทยจึงขอประกาศนโยบายเดินหน้า”โครงการโขง เลย ชี มูล”
คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า จากการศึกษา พบว่า ภาคตะวันออกฉียงเหนือมีพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 63.85 ล้านไร่ ปัจจุบันมีพื้นทีชลประทานเพียง 8.69 ล้านไร่ หรือประมาณ 13.6% เท่านั้น ทำให้เหลือพื้นที่ทางการเกษตรที่ไม่มีระบบชลประทานมากถึง 55.16 ล้านไร่
ทั้งที่ ภาคอีสานเป็นพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่ทุ่งกุลา มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา รวมทั้งเป็นภาคที่มีประชากรสูงที่สุด แต่กลับมีระบบชลประทานน้อยที่สุด
หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นที่ปากแม่น้ำเลย บริเวณ ต.เชียงคาน และ ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นแนวผันน้ำโขงอีสาน สู่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล
โดยมีเป้าหมายเร่งด่วนในการเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำเดิมที่มีปัญหาน้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อย เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง และเขื่อนลำปาว พื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกน้อย มีปริมาณน้ำท่าน้อย ฝนทิ้งช่วง มีปัญหาหรือไม่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติม ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำชี บริเวณ จ. หนองบัวลำภู ขอนแก่น และชัยภูมิ พื้นที่ต้นน้ำมูล บริเวณ จ.นครราชสีมา และบุรีรัมย์
โครงการดังกล่าว จะทำให้ระบบคลองส่งน้ำและพื้นที่ชลประทานครอบคลุมทั้งภาคอีสาน 20 จังหวัด 281 อำเภอ เป็นพื้นที่ชลประทาน 31.78 ล้านไร่ คลองสายใหญ่จำนวน 6 สาย ความยาวรวม 2,271 กม. เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 1.36 ล้านครัวเรือน หรือ 5.39 ล้านคน โดยจะมีการแบ่งโครงการเป็น 4 เฟส
ปัจจุบันลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้สำหรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยฝนที่ตกลงมาไหลลงแม่น้ำโขงปีละ ประมาณ 36,247 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น การผันน้ำโขง ที่ปากน้ำเลย จะทำให้น้ำท่าในประเทศ ที่ไหลไปยังแม่น้ำโขง สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้อีก ปีละเกือบ3หมื่นล้าน ลบ.ม.
และยังสามารถเติมน้ำให้กับแหล่งเก็บกักน้ำต่าง ๆ รวมทั้งแม่น้ำในลุ่มน้ำโขงอีสาน-ชี-มูล ไว้ใช้ในฤดูแล้ง ช่วยลดปัญหาภัยแล้ง ความเสี่ยงจากฝนตกล่าช้าและฝนทิ้งช่วง ขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มระดับเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน และศักยภาพในการใช้น้ำใต้ดินได้อีกด้วย
นอกจากนี้ จะช่วยบรรเทาอุทกภัยจากน้ำหลากได้อีกด้วย เพื่อแก้ปัญหานำ้ท่วมนำ้แล้งอย่างยั่งยืน
ด้าน นายต่อพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการที่ประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากสามารถผันน้ำโขงมาเป็นน้ำต้นทุนได้โดยแรงโน้มถ่วง และสามารถกระจายน้ำจากคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่ชลประทานโดยแรงโน้มถ่วงถึง 14 ล้านไร่ และใช้ระบบสูบน้ำอีก 17.78 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งปกติการพัฒนาน้ำภายในประเทศ พื้นที่ชลประทานส่วนใหญ่จะเป็นสถานีสูบน้ำ แต่โครงการดังกล่าวใช้แรงโน้มถ่วงเป็นหลัก
สำหรับผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร จากเดิมปีละ 87,486 บาท/ครัวเรือน/ปี) เป็น 173,158 บาท/ครัวเรือน/ปี เพิ่มขึ้น 85,672 บาท/ครัวเรือน/ปี จากการดำเนินโครงการนี้ ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวอีสาน และลดความยากจนได้ไม่น้อยกว่า 5.39 ล้านคน ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท