เปิดสำนวน"คดีโจรกระจอก" "ทักษิณ"ฟ้อง" ชวน"หมิ่นประมาท

26 ต.ค. 2565 | 09:36 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2565 | 17:19 น.

เปิดสำนวน"คดีโจรกระจอก" เหตุ ทักษิณ ฟ้อง ชวน หลีกภัย ข้อหาหมิ่นประมาท เหตุเกิด 28 ต.ค.55 ขณะบรรยายเปิดงานโรงเรียนการเมือง ของพรรคปชป.ที่โรงแรมรามาดาพลาซ่า กทม.

วันที่ 26 ต.ค.2565  นายธรัมพ์  ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันให้ข้อมูลคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ นำตัว นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยื่นฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ว่า

 

 สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 2154/2555 ลงวันที่ 14 ส.ค.2565 ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้นก่อนถูกถอด) อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจ กล่าวหา นายชวน หลีกภัย ผู้ต้องหา ฐานความผิด "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

 

โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" จากพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร โดยเหตุดังกล่าวเกิดที่แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

 

พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาบางข้อหา โดยมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องในข้อหานำเข้า สู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่า ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 (1) นั้น

 

โดยคดีดังกล่าวจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 28 ต.ค. 2565 นายชวรัตน์ วงศ์ธนะบูรณ์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ รักษาการในตำแหน่งอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 พิจารณาสำนวนการสอบสวนอย่างละเอียด รอบคอบ และเนื่องจากคดีนี้ ผู้ต้องหาดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญและเป็นคดีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อสารมวลชน จึงเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป

 

ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 4, 30 และ 141 หลังจากพิจารณาสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 จึงได้เสนอให้อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้พิจารณา ซึ่งได้มีความเห็นควรสั่งฟ้อง นายชวน หลีกภัย ผู้ต้องหา ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 มาตรา 3, 4

 

และ มีคำสั่งไม่ฟ้องในความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 ( 1)

และเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 นายชวน หลีกภัย ได้เดินทางมาพบ นายประกิต กิตอำนวยพงษ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 จากนั้นจึงได้นำตัวส่งฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้

 

โดยภายหลังยื่นฟ้องศาลสอบคำให้การ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี เเละนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 16 ม.ค.66 เวลา 09.00 น.

 

นายโกศลวัฒน์ รองโฆษก อสส.กล่าวเพิ่มเติมว่าจะเห็นได้ว่าคดีนี้พนักงานอัยการได้รับสำนวนในวันที่ 20 ต.ค.65 ก่อนหมดอายุความในวันที่ 28 ต.ค.65 เพียง 8 วัน อัยการได้มีการสอบสวนเพิ่มเติมด้วย ไม่รอช้า รีบเร่งพิจารณาสำนวนให้สมบูรณ์ครบถ้วนก่อนมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 ซึ่งมีวันหยุดราชการอีกสามวัน เเละนำตัวยื่นฟ้องศาลได้ทัน ก่อนหมดอายุความ

 

ซึ่งนายชวน เองก็เดินทางมาฟังคำสั่งตามนัดของพนักงานอัยการ เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเดินทางไปศาลด้วยตนเอง อย่างไม่มีการประวิงเวลาเพื่อรออายุความหมด ซึ่งก็ถือว่าเป็นการยึดหลักการเคารพกฎหมาย ชัดเจน โดยทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคำฟ้องอัยการระบุพฤติการณ์ สรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2555 เวลากลางวัน จำเลยได้หมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เสียหาย โดยจำเลยได้บรรยายในงานเปิดงานโรงเรียนการเมือง ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่โรงแรมรามาดาพลาซ่า แม่น้ำริเวอร์ไซด์ ถนนเจริญกรุง แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อความเป็นการใส่ความผู้เสียหายว่า

 

“...รูปแบบการปกครองทุกอย่างต้องพัฒนาไปข้างหน้า แต่ต้องยอมรับว่ารูปแบบการปกครอง ของประเทศไทยให้โอกาสมาก บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่เราต้องทำ คนไทยมีศักยภาพ แต่เรามีจุดอ่อนที่นักการเมืองโกง ซึ่งมาจากธุรกิจการเมืองและอุปสรรคของประชาธิปไตย คือ การยึดอำนาจระบอบประชาธิปไตย อำนาจประชาธิปไตยจะใช้ผ่านองค์กร สถาบันทั้งนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ โดยมีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน

 

แต่เมื่อบ้านเมืองมีปัญหาจึงเกิด องค์กรอิสระขึ้นมา เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) แต่เมื่อระบบทักษิณเกิดขึ้นก็ใช้วิธีการนอกกฎหมาย

 

สำหรับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันเป็นเพราะนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาในสามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ให้หมดภายในสามเดือนนั้นทั้งที่ขณะนั้นไฟใต้มอดแล้วในสมัยที่ตนเป็น นายกรัฐมนตรี

 

แต่เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีกลับใช้คำว่าโจรกระจอก และมียกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) หันมาใช้นโยบาย “ฆ่าหมดก็จบ” ตรงนี้คือที่มาของการนองเลือดในปัจจุบันนี้...”

 

 

ต่อหน้าผู้ร่วมเข้าฟังการบรรยาย นักข่าวสื่อมวลชน ซึ่งเป็น บุคคลที่สาม รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เห็นและอ่านข่าว ทั้งนี้โดยจำเลยมีเจตนาเพื่อให้นักข่าว สื่อมวลชนทั้งหลายนำข้อความดังกล่าวไปเผยแพร่ออกอากาศ กระจายเสียง และตีพิมพ์เผยแพร่ ทางหนังสือพิมพ์ไปทั่วราชอาณาจักร โดยประการที่น่าจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่ แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

 

ชั้นสอบสวนจําเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างสอบสวน จำเลยไม่ถูกควบคุมตัว ได้ส่งตัวจำเลยมาศาลพร้อมฟ้องนี้แล้ว