ยังคงเกาะติดว่าด้วยเรื่องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 2 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนรัฐระหว่าง คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนตาม มาตรา 36 และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่เสนอราคาต่ำสุดในการประมูลเมื่อเทียบกับคู่แข่งอีก 1 รายคือ ITD Group บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดิเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ยังมีปัญหาว่า ขาดคุณสมบัติในการประมูลหรือไม่?
ขณะนี้ สำนักงานอัยการสูงสุด กำลังตรวจร่างสัญญา ก่อนเสนอให้คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ
ว่ากันโดยไม่ต้องอ้อมค้อม การประมูลเค้กก้อนโตโครงการนี้ “กำลังอยู่ในสภาวะฝุ่นตลบอบอวล” แต่หอมหวลสำหรับนักเลือกตั้งอย่างยิ่ง!!!
ใครเดินหน้าลุยไฟจะถูกตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใสในการประมูล และเป็นตัวการทำให้รัฐเสียประโยชน์ทันที
ย้ำให้เห็นภาพกันอีกครั้ง การประมูลรอบนี้ ทาง BEM ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิ ที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน : NPV เท่ากับ -78,287 ล้านบาท
แปลความให้ง่ายๆ ว่า BEM ขอให้รัฐสนับสนุนเงินในการลงทุนก่อสร้าง การจัดหาและเดินรถไฟฟ้าตลอดสัญญา 78,287 ล้านบาท
ITD Group กลุ่มอิตาเลียน-ไทย ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิ คิดมูลค่าปัจจุบัน : NPV เท่ากับ -102,635 ล้านบาท
แปลความว่า ITD Group ขอให้รัฐสนับสนุนเงินในการลงทุนก่อสร้าง การจัดหาและเดินรถไฟฟ้าตลอดสัญญา 78,287 ล้านบาท
ถ้าเอา 2 รายที่เป็นคูแข่งกันในการประมูลมาพิจารณาจะพบว่า BEM เสนอเงื่อนไขขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐในการลงทุนก่อสร้าง การเดินรถตลอดสัญญาต่ำกว่าคู่แข่ง ITD Group ถึง 24,348 ล้านบาท เชียวครับ
ไม่มีเหตุผลที่ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ผู้บริหาร รฟม. ตลอดจนรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะไม่พิจารณาอนุมัติใช่มั้ยครับ!!!
แต่ช้าแต่....ดันมีหมูไม่กลัวน้ำร้อน “สอดแทรกข้อมูลใหม่” เข้ามาให้ประชาชนตกตะลึง อ้าปาก ตาค้าง ไปตามๆ กัน ชนิดที่ว่า คนเดินหน้าอนุมัติโครงการนี้อาจมีโชคชะตาผวา..ไอ คุกๆ เชียวครับ...
หมูผู้ไม่กลัวน้ำร้อนที่ว่าคือ กลุ่มบริษัท บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ที่ร่วมซื้อซองประมูล แต่ไม่ได้ยื่นซองประมูลนั่นเอง BTSC หมูไม่กลัวน้ำร้อน ออกมาโยนระเบิดให้ “คนปกติ” ในประเทศนี้เห็นเรื่องราว “ผิดปกติ 3-4 ลูก”
ระเบิดนาปาล์มลูกแรก….เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2565 BTS ได้เสนอหลักฐานที่ได้จากการเปิดซองข้อเสนอด้านราคาของการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์) รอบแรก ที่ยื่นประมูลกันไปเมื่อปี 2563 โดยกลุ่มบริษัท บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เสนอผลประโยชน์สุทธิคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน : NPV เท่ากับ -9,675 ล้านบาท
นั่นเท่ากับว่า BTSC ขอให้รัฐสนับสนุนเงินในการลงทุนก่อสร้าง การจัดหาและเดินรถไฟฟ้าตลอดสัญญา 9,675 ล้านบาทเท่านั้น
อ้าปากค้างกันสิครับ... เพราะวงเงินแตกต่างกันจากผู้ชนะการประมูลครั้งล่าสุดมากโขถึง 6.8 หมื่นล้านบาท
ตัวเลขการประมูลของ BTSC ตั้งแต่ซื้อซองประกวดราคาเมื่อปี 2563 ไปจนถึงการยกเลิกประมูลรอบแรก เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจากรัฐแค่ 9,675 ล้านบาท กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศทันที
เพราะงานประมูลโครงการนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลยแม้แต่นิดเดียว
กล่าวคือ 1. ราคากลางของการประมูลรอบแรกและรอบสอง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังอยู่ที่วงเงิน 96,012 ล้านบาท การจ่ายผลตอบแทนตามระยะเวลา 30 ปี ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ระยะเวลาการก่อสร้างก็ยังคงเดิมที่ 6 ปี
ใครจะมาบอกว่า... เอามาเทียบเคียงกันไม่ได้ ประมูลคนละครั้งกัน ท่านก็ว่าของท่านไปเลยครับ ถ้าหากว่าเป็นเงินของครอบครัวท่าน...
แต่ถ้าหากเป็นเงินที่มาจากภาษีประชาชน ราคาส่วนต่างที่รัฐต้องจ่ายให้เอกชนจากการประมูลที่เกิดขึ้นสูงลิ่วถึง 6.8 หมื่นล้านบาทนั้น ท่านต้องพิจารณาให้ดี รอบคอบถี่ถ้วนให้มากที่สุด! มิเช่นนั้นจะเดือดร้อน เพราะปล่อยปละละเลย เพิกเฉยไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ตามมาตรา 157 เอาได้!
ส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการประมูลสูงลิ่วถึง 6.8 หมื่นล้านบาท นี่แหละ เป็นผลประโยชน์ของรัฐที่ผู้มีอำนาจทั้งรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการคัดเลือก มาตรา 36 ตลอดจนสำนักงานอัยการสูงสุด จักต้องตระหนักและยึดถือเป็นที่สุด
ระเบิดลูกที่ 2-3 -4 มาเป็นชุด....หมูผู้ไม่กลัวน้ำร้อนคือ กลุ่ม BTSC ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงวันที่ 21 ก.ย.2565 เรื่องคัดค้าน และไม่ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามประกาศเชิญชวนและการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือนพ.ค.2556
หนังสือฉบับของ BTSC ระบุว่าได้ทำหนังสือเรียนคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีกส่วนหนึ่งด้วย
ระเบิดลูกต่อมา ....หนังสือของกลุ่ม BTSC ชี้ว่า การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ออกประกาศเชิญชวนและออกเอกสารการคัดเลือก ฉบับเดือน พ.ค.2565 ซึ่งมีการประกาศให้ ITD Group หรือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพันธมิตร เป็นผู้ผ่านการพิจารณาซอง 1 ข้อเสนอคุณสมบัติ ทั้งที่นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการและผู้มีอำนาจลงนามของ ITD ได้รับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
ดังนั้น กลุ่ม ITD จึงเป็นเอกชนที่มีคุณลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน และไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2562…..
การออกมาปาระเบิดนาปาล์มของ “กลุ่ม BTSC ที่เป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน” จึงสะท้านปฐพี เพราะเป็นการสกัดกั้น ตีกันเงินส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาท ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไปโดยปริยาย ใครที่เดินหน้าลุยไฟต้องพิจารณาดีๆ
ไม่เพียงแค่ รฟม.เท่านั้นที่ต้องเงี่ยหูฟัง...
ครม.ต้องลงมาตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินและประเทศชาติ
ผมไม่แปลกใจที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ตอบกลับหนังสือของกลุ่ม BTSC ว่า “รับทราบถึงปัญหาและจะติดตามตรวจสอบ โดยส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปพิจารณาแล้ว”
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เป็นผู้กำกับดูแล รฟม.ก็ควรดำเนินการตรวจสอบการประมูลด้วยตัวเองให้สมกับความเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเป็นผู้ออกประกาศให้หน่วยงานรัฐจะพิจารณาเรื่องใดให้แจ้งรัฐมนตรีรับทราบ
หากยังคงเมินเฉยอาจจะเข้าข่ายต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย ในเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุน และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542
เพราะกฎหมายฉบับนี้ ระบุไว้ว่า “กรณีผู้ใดมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณา หรือการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือพฤติการณ์แจ้งชัด ควรรู้ว่าการเสนอครั้งนั้น มีการกระทำผิด ต้องดำเนินการให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น
แถมกฎหมายยังกำหนดอัตราโทษไว้สูงถึง 10 ปี!
การเพิกเฉย ปล่อยปละละเลย ในคดีจำนำข้าวของ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนต้องโทษจำคุก 5 ปี มีให้เห็นแล้ว
คดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ที่ศาลปกครองพิพากษายืนให้ทายาท 3 คน คือ ภรรยา และลูกสาว 2 คน ในฐานะผู้รับมรดกของนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในสมัยนั้น แม้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว แต่ทายาทต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่กรุงเทพมหานคร กว่า 587 ล้านบาท ก็เป็นบทเรียนกระบวนการทำหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง
คดีใหญ่ที่ศาลฎีกาสั่งให้จำคุก นายทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 3 ปี กรณีอนุมัติให้กู้ยืมเงินเพิ่มเติมแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ประมาณ 1,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารเอ็กซิมแบงก์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน ...ก็เป็นหนังตัวอย่างให้สะท้านใจ
คดีหวยบนดิน ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา ตัดสินจำคุก นายทักษิณ ชินวัตร 2 ปี ที่ออกโครงการสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว หรือหวยบนดิน ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย, ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 กรณีถูกกล่าวหา ร่วมกลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ และอดีตผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน ดำเนินโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค.46-16 ก.ย.49 โดยมิชอบ...ก็มีให้เห็นภาพการตัดสินความผิดในการทำหน้าที่
ใครเพิกเฉย ปล่อยปละละเลย ละเว้น ไม่ละเว้น สังคมจะได้เห็นกันเร็วๆ นี้...