วันรัฐธรรมนูญซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม
ประวัติวันรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย
หลังคณะราษฎรได้ทำการอภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) มีการประกาศใช้ "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475" เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฉบับแรกของไทย
10 ธันวาคมเป็นวันรัฐธรรมนูญ
ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ทรงพระราชทาน "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475" เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของไทย ทำให้วันรัฐธรรมนูญตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมด 20 ฉบับ โดยฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ความสําคัญของวันรัฐธรรมนูญ
นอกจากวันรัฐธรรมนูญจะมีขึ้นเพื่อระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทยแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีส่วนช่วยในการวางกรอบการปกครองและสร้างเสถียรภาพให้ระบอบการเมือง ดังนี้
ตลอดระยะเวลา 90 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมากถึง 20 ฉบับ ดังนี้
1.พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475
2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475
3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489
4.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490
5.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492
6.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495
7.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2502
8.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2511
9.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2515
10.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517
11.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519
12.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2520
13.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521
14. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534
15.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534
16.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540
17.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549
18.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
19.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
20.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย
วงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางและถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร เป็นที่ตั้งของ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" มีลักษณะเป็นรูปหล่อลอยตัว ตรงกลางประกอบด้วยเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทยประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า บริเวณลานอนุสาวรีย์มีครีบทรงแบนรายรอบทั้ง 4 ทิศ สร้างขึ้นในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2483 เพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยที่มักนึกถึงในวันรัฐธรรมนูญ และใช้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย ทั้งยังถือเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครด้วย