วันรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

07 ธ.ค. 2565 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2565 | 17:31 น.

วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2565 เป็นวันอะไร มีประวัติ ความเป็นมาและความสำคัญอย่างไร สรุปรวมรายละเอียดไว้ให้ที่นี่

วันรัฐธรรมนูญซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม สำหรับปี 2565 นี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565

 

ประวัติวันรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย

หลังคณะราษฎรได้ทำการอภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) มีการประกาศใช้ "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475" เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฉบับแรกของไทย

 

ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ทรงพระราชทาน "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475" เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของไทย ทำให้วันรัฐธรรมนูญตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมด 20 ฉบับ โดยฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ความสําคัญของวันรัฐธรรมนูญ

นอกจากวันรัฐธรรมนูญจะมีขึ้นเพื่อระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของไทยแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีส่วนช่วยในการวางกรอบการปกครองและสร้างเสถียรภาพให้ระบอบการเมือง ดังนี้

สถาปนาอำนาจของรัฐ : แสดงถึงการดำรงอยู่ของรัฐ เป็นเอกราชไม่ขึ้นต่อใคร

สถาปนาเป้าหมายของสังคม : สร้างเอกภาพและแสดงเจตจำนงของการสร้างรัฐว่าต้องการให้การปกครองเป็นไปในทิศทางใด

สร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ : ระบุหน้าที่ของผู้ปกครอง กำหนดบทบาทและกลไกการทำงานของสถาบันการเมือง 

คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ : ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งการเคลื่อนไหว การแสดงความคิดเห็น และการเลือกนับถือศาสนา

รับรองความชอบธรรมให้ระบอบการเมือง : รัฐที่มีรัฐธรรมนูญจะได้รับความชอบธรรม เมื่อเข้าร่วมกับประชาคมนานาชาติในภาคีความร่วมมือต่างๆ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย

วงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางและถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร เป็นที่ตั้งของ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" มีลักษณะเป็นรูปหล่อลอยตัว ตรงกลางประกอบด้วยเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทยประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า บริเวณลานอนุสาวรีย์มีครีบทรงแบนรายรอบทั้ง 4 ทิศ สร้างขึ้นในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2483 เพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยที่มักนึกถึงในวันรัฐธรรมนูญ และใช้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย ทั้งยังถือเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครด้วย

 

กิจกรรมในวันรัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง

มีการจัดพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทุกปีสืบมา งานนี้เป็นงานพระราชพิธีและรัฐพิธีร่วมกัน และมีพิธีการวางพวงมาลาถวายสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และมีการประดับธงชาติบริเวณอาคารบ้านเรือน

ที่มา : สถาบันพระปกเกล้า