ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนายการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สะท้อนความเห็นกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประกาศเป็นสมาชิก และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวของพรรครวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.)ในการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าว่า นับเป็นออฟชั่นที่ดี่สุด และเป็นไปได้สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ในตอนนี้ ที่ผ่านมานายกฯคงลองมาเยอะแล้ว วันนี้มันได้เท่านี้ ก็ไปตามนี้ก่อน
แต่ถ้ามีโอกาสพลิกอีก รอบนี้ก็ต้องเทหน้าตักแบบนี้ไปก่อน ส่วนจะเป็นทางเลือกที่ถูกหรือผิดไม่มีใครรู้ อยู่ที่ผลลัพธ์ที่จะออกมาหลังเลือกตั้ง ถ้าลุยแบบนี้แล้ว เลือกตั้งได้ตามเป้าก็แสดงว่ามาถูกทาง แต่ถ้าล้มเลว แสดงว่ามาผิดทาง
นายกฯคงอยากลองดูอีกสักตั้ง จึงเป็นที่มาว่าต้องรีบตอนนี้ ไม่ใช่รอเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธุ์ ปีหน้า จะทำให้ช้าไป ถ้าประกาศชัดเจนอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ตอนนี้ยังพอมีเวลาสามเดือน ซึ่งเวลาจะกลับลำก็ยังมี เพราะเงื่อนไขจริงๆ ถ้ายื้ออยู่อีกจนครบเทอมได้ เพราะเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม ปีหน้า การย้ายพรรคต้องเกิดขึ้น ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็ยังพอมีเวลาพลิกเกมในช่วงนั้นได้อีกหน่อย ตราบใดที่อำนาจยังอยู่
ถือเป็นออฟชั่นที่ดีที่สุด ณ เวลานี้ แต่ถูกหรือผิดไม่รู้ อยู่ที่ผลลัพที่จะออกมา ลุยแบบนี้ เลือกตั้งได้ตามเป้าก็แสดงว่ามาถูกทาง ถ้าเฟลหรือล้มเลวแสดงว่ามาผิดทาง
นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ให้ทรรศนะถึงการทำงานของนายกฯหลังประกาศเตรียมลงการเมืองเต็มตัวว่า การทำงานในฐานะนายกฯ อาจจะไม่ถึงยากขึ้น แต่อาจจะเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์แบบตรงไปตรงมามากขึ้น ที่ผ่านมาจากฝ่ายตรงข้ามของนายกฯเอง ก็ไม่ได้เบาอยู่แล้ว ในแง่ถูกวิพากษ์วิจารณ์
แต่การเปิดตัวกับพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งต้องระวังมากขึ้นโดยเฉพาะความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาล อย่าให้พรรคใหม่หรือคนที่ได้ตำแหน่งใหม่ในรัฐบาล ที่อยู่ในพรรคเดียวกับนายกฯ ไปล้ำเส้นพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เพราะเขาอยู่กันมาดี และดี จนเลือกตั้งเสร็จก็ไม่มีอะไรกัน
“แค่ระวังความสัมพันธ์กับพรรคร่วม อย่างอื่นก็เหมือนเดิม นายกฯ คงจะคิดว่าในเฟสแรกของการทำงานเป็นนายกฯในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะมีอะไรที่ต้องระวังมากขึ้น ความชัดเจน ความอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งในรอบนี้ก็ดี ในแง่การทำงานทางการเมือง เพราะมันเตรียมเลือกตั้ง จะได้เดินเกมการเมืองได้ชัดๆ เขาเลยเลือกทางนี้ คงชั่งน้ำหนักแล้ว ว่าด้านบวกเลือกเอา “การเมืองนำการบริหาร”
ส่วนที่นายกฯไม่ประกาศยุบสภา เพราะรอให้ส.ส. พร้อมก่อน เงื่อนไขสำคัญคือ การตั้งพรรคใหม่การไปดูดคนเข้ามาต้องมีเป้าหมายว่า จะเอากี่ที่นั่ง วันนี้นับหัวแล้วพอหรือยังกับที่คิดไว้ ที่ผ่านมายังไม่เข้าเป้า เมื่อไม่เข้าเป้าต้องเปิดตัวให้ชัด ที่เปิดตัวแบบกั๊กๆจึงไม่มีคนเข้าร่วม การเมืองตอนนี้กับเมื่อก่อนไม่เหมือนกันแล้ว เดี๋ยวนี้เขาต้องการความมั่นใจ
“เมื่อเปิดตัวชัดขนาดนี้แล้ว สร้างความมั่นใจขนาดนี้แล้ว ก็จะดูว่าใครเข้ามา ค่อยมาเช็ค มาตัดเกรดก่อน ใคร เกรดเอ ,เกรดบี เชื่อว่ามาเยอะแน่ แต่ระดับที่หวังผลได้จริงมีกี่คน และต้องเช็คแถวกันว่า ถ้าได้ตามเป้าหมายสมมุติตั้งไว้ 70 คน เกรดเอ มีครบ 70 คนหรือยัง
ถ้าครบแล้วตอนนั้นแหละ ค่อยประกาศยุบสภา แต่ที่ผ่านมาแค่ลุ่มๆดอนๆ มีการประเมินปรามาสด้วยซ้ำว่ามีแค่ 20 คน จะถึงหรือเปล่า จึงประกาศยุบสภาไม่ได้”
ดร.สติธร เชื่อว่า สุดท้ายจริงๆถ้านายกฯเปิดตัวแน่วแน่ ผู้สมัคร ส.ส.เกรดเอ อย่างน้อยๆส่วนหนึ่งต้องมาจากพรคพลังประชารัฐ ( พปชร) เดิม ซึ่งเขาก็คงวางเป้าไว้อย่างนั้น ที่ลังเลเพราะยังไม่แน่ใจว่าถ้าไปพรรคใหม่ หรือจะกลับพรรค พปชร. พอนายกฯประกาศชัด ส.ส.กลุ่มนี้ก็เป็นกอบเป็นกำ
ส่วนส.ส.ที่ไปพรรคภูมิใจไทย เพราะรอไม่ไหว ที่สำคัญ พรรคภูมิใจไทย เจรจาไว้ล่วงหน้านานแล้ว ในขณะที่พรรคนายกฯจะไปทางไหนไม่มีใครรู้ชัดเจน แต่การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน พอถึงวันที่ชัด ส.ส.ที่ไปแล้วก็อาจกลับมาได้ เพราะประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งคือ ภูมิใจไทย เอาไปก็ไม่มีประโยชน์ คนที่ไปจาก พปชร.จำนวนไม่น้อย ครั้งที่แล้ว ได้เป็นส.ส. เพราะมาจากกระแส พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย ถ้าเขาไปตัวโดดๆแล้ว ภูมิใจไทยไม่มีกระแสเท่าพล.อ.ประยุทธ์ เหมือนการเลือกตั้งปี 2562 ก็สอบตก สู้กลับมาอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ จะได้ลุ้นกว่า แล้วค่อยมาร่วมรัฐบาลกันอย่างนี้จะแฮปปี้กว่า
จึงต้องเช็คว่าใครมีเรตติ้งส่วนตัว ใครต้องอาศัยกระแสนายกฯช่วยพยุง คนที่มีกระแสส่วนตัวเพียวๆแล้วได้กระแสจากพรรคเติมให้อีกนิดหน่อย อันนี้เก็บไว้ ส่วนคนที่ประเมินแล้วไม่มีชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ช่วยลงท้าย ย่อมไม่รอดแน่ ก็ต้อส่งเขากลับ ต่อให้ไม่อยากกลับก็ต้องส่งกลับ ถ้ามาขอเจรจาขอคืนให้รีบคืนไปเลย
มุมมองการจัดตั้งรัฐบาล หลังเลือกตั้งสมัยหน้าในปี 2566 นั้น ดร.สติธร มองว่า ถ้าพรรครวมไทยสร้างชาติสามารถรวบรวมพรรคการเมืองได้เสียงในสภามากกว่า เชื่อพรรคร่วมรัฐบาลยังน่าจะเกาะกลุ่ม จัดตั้งรัฐบาลเหมือนปี 2562 แนวโน้มคงเป็นอย่างนั้น ยิ่งร่วมรัฐบาลกันมาต่อเนื่อง ก็รู้สึกไปในทางเดียวกันแล้ว อยู่กันดี นานถึง 4 ปี จะไปเสี่ยงอยู่อีกขั้วหนึ่งทำไม ไม่รู้จะอยู่ได้ดีเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่
อีกอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องพึ่งพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ เพราะชัดเจนว่าฝ่ายค้านไม่เอาเขาแน่ พรรคร่วมปัจจุบันก็ได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่มาแทรกแซง สบายใจกว่ากันเยอะ
ขณะที่พรรค พปชร. ก็ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่พรรคหลักคือพรรคที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ส่วนจะได้พื้นที่เท่าไรก็ขึ้นอยู่ว่าจะได้ ส.ส. จำนวนเท่าไร มีอำนาจต่อรองขนาดไหน ซึ่ง พรรค พปชร. ก็ถือว่าโอเค ที่แยกสถานภาพกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะที่ผ่านมา แม้จะเป็นพรรคเดียวกัน แต่โควต้า รัฐมนตรี ถูกแบ่ง มีโควต้านายกฯ มีโควต้าพรรค แต่คราวนี้จะเป็นโควต้าพรรคเพียวๆ ตัดขาดกันไปเลย ไม่ต้องเอาโควต้า นายกฯ มาแทรกแซง เท่ากับว่า “บิ๊กป้อม” กับ นายกฯแยกกันเดินในสนามเลือกตั้ง แต่ในปั้นปลายสามารถมารวมกันได้
แม้ขณะนี้ไม่ใช่พรรคคู่ชิงของรวมไทยสร้างชาติ แต่ถ้าผลเลือกตั้ง รวมไทยสร้างชาติ ได้เสียงไม่เป็นไปตามที่คาด โอกาสที่แคนดิเดตนายกฯของพรรคภูมิใจไทย ขึ้นมาแทนก็เป็นไปได้ แม้ว่ารวมไทยสร้างชาติเก็บ ส.ส. เกรดเอ ไว้เยอะ แต่ครั้งนี้อาจสอบตกก็ได้ จะไปแย่งนายกฯ จากพรรคที่ได้มากกว่าคงไม่ดีแน่ อย่างไรก็ดีแม้พรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงของ รวมไทยสร้างชาติ แต่ยังเป็นคู่เทียบที่สำคัญ โดยคู่แข่งหลักยังเป็นเพื่อไทย
“การจัดตั้งรัฐบาลในสมัยหน้า คนตั้งรัฐบาลรอบนี้ ต้องคิดให้ละเอียดขึ้นว่า ในปี 2567 ต้องเป็นพรรคร่วมรัฐบาลขนาดใหญ่หน่อย ไม่ต้องตึงเหมือนเดิม ใครพร้อมร่วมกันได้ก็มาร่วม อาจเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มี 300 เสียงขึ้นไป
ในทางกลับกัน ถ้าพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องต้องมี 300 กว่าเสียงเช่นกัน เพราะเขาต้องสู้กับเสียง ส.ว. เพราะฉะนั้นโมเดลเสียงในสภา มันจึงบังคับว่า ถ้าจะตั้งรัฐบาลแบบสบายใจ และอยู่รอดได้ ต้องตั้งที่ตัวเลข ประมาณ 300 ขึ้เสียงขึ้นไป”