“อุตตม”แนะรัฐเร่งออกมาตรการ รับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจ ปี 66

05 ม.ค. 2566 | 06:45 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2566 | 14:32 น.

“อุตตม”ให้กำลังใจคนไทยทำงานอย่างมีความสุข สู้ความเสี่ยงเศรษฐกิจ ปี 66 แนะรัฐเร่งออกมาตรการรับมือความผันผวน ขอทุกฝ่ายเตรียมกิจกรรมรับนักท่องเที่ยว ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า 

 

สวัสดีครับ เริ่มศักราชใหม่ 2566  ขอให้ทุกท่านเริ่มต้นการทำงานอย่างมีความสุข พร้อมด้วยกำลังกาย กำลังใจ มีความคิดที่เฉียบคม ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้

 

อย่างไรก็ตาม มีโอกาสสูงที่ 2566 จะเป็นปีที่ประเทศไทยของเราเผชิญความท้าทาย และความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของเราทุกคน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ การเตรียมพร้อมรับมือแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เราแก้ไขปัญหาได้ทันการณ์ และขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรหยุดมองหาโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นได้แม้ท่ามกลางความท้าทาย 

 


 

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย

ทั้งนี้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจหลักๆ ของไทยผูกอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ล่าสุด คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้ให้ความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้ มีความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ทั้งสหรัฐ จีน และยุโรป กำลังจะชะลอตัวลงพร้อมๆ กัน

 

ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ เป็นแรงกดดันต้นทุนพลังงาน ส่งผลต่อเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก จึงมีการคาดหมายกันว่า  IMF อาจปรับลดคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในการประชุม Word Economic Forum ในปลายเดือนนี้

 

ความจริงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เริ่มส่อแววส่งผลกระทบกับประเทศไทยแล้ว เห็นได้จากตัวเลขส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลงติดต่อกัน 2 เดือน (ต.ค.- พ.ย. 2565) ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างคิดเห็นตรงกันว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ จะเผชิญกับปัญหาการลดลงของกำลังซื้อในตลาดโลก  
 

 

ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่เป็นความหวังของเราในปีนี้ ได้ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ประมาณ 20 ล้านคน และหลังมีข่าวประเทศจีน ประกาศยกเลิกมาตรการกักกันโควิด เปิดให้ชาวจีนเดินทางระหว่างประเทศได้สะดวกขึ้น ก็มีการประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประเทศไทยอย่างน้อย 5 ล้านคน รวมตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้น่าจะขยับเป็น 25 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2562 

 

อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงซึ่งอาจรวมถึงเศรษฐกิจจีน ย่อมกระทบต่อบรรยากาศตลาดการท่องเที่ยวเช่นกัน

 

แต่กระนั้นตามที่ผมกล่าวไว้ตอนต้นว่า ระหว่างที่เราเตรียมการรับมือความเสี่ยง แต่หากมีโอกาสเราก็ต้องไม่ปล่อยให้ผ่านไป ดังนั้นระหว่างนี้ที่ทุกฝ่ายเน้นเตรียมกิจกรรมรองรับนักท่องเที่ยว ภาคเอกชนด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ควรเร่งการยกระดับพัฒนาองคาพยพของภาคการท่องเที่ยวไทย และที่เกี่ยวเนื่องอย่างครอบคลุมไปพร้อมกัน 

 

อาทิ การจัดการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กจำนวนมากที่จะปรับปรุงกิจการสถานที่ และที่สำคัญยิ่ง การพัฒนาทั้งผู้ประกอบการ และบุคลากรด้านการท่องเที่ยวในการยกระดับความรู้ ทักษะและความสามารถ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศให้แข่งขันในเวทีโลกได้เต็มศักยภาพ
 

ส่วนในมุมผู้ประกอบการทั่วไปโดยเฉพาะกลุ่มรายย่อย และเอสเอ็มอี ที่ยังไม่ฟื้นจากพิษโควิด อาจจะประสบกับความยากลำบากมากยิ่งขึ้นเรื่องความสามารถในการหารายได้ และยังต้องเผชิญกับต้นทุนพลังงานที่จะคงอยู่ในระดับสูงต่อไป รวมถึงต้นทุนดอกเบี้ยที่น่าจะสูงขึ้นได้อีก

 

ดังนั้นผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้วยความรอบคอบ เตรียมหาทางหนีทีไล่ แนวทางเข้าถึงแหล่งทุนให้เพียงพอ รวมถึงรักษาสภาพคล่องด้วยการถือเงินสด และเกาะติดสถานการณ์ตลอดเวลา

   
ปีนี้หลายท่านอาจตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

 

แต่ความจริงไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน ภารกิจหน้าที่ของรัฐบาลในสถานการณ์เช่นนี้คือ การเร่งรัดเตรียมการรับมือความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยดูแลรักษาเสถียรภาพในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับหนี้สินภาคครัวเรือน ดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุน อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการประกอบธุรกิจ การกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ตลอดจนการเรียกคืนขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่ตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นต้น

 

นอกจากนี้รัฐบาลต้องบริหารจัดการในเชิงลึก โดยดูแลผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ยังขาดแคลนเงินทุน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพียงพอ รวมถึงการสนับสนุนให้มีการพัฒนาขีดความสามารถที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆในช่วงเวลานี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอดและรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการดำเนินการเหล่านี้ รัฐบาลจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน เพื่อรวมพลังขับเคลื่อนนโยบาย และมาตรการที่ตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศ รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในปีนี้ต่อเนื่องไปในอนาคตข้างหน้า ผมยังเชื่อว่าปี 2566 จะเป็นปีแห่งความหวังของพวกเราคนไทยได้ครับ