รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตาม มาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด ในคดีเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินเขากระโดง ขณะนี้ทางกรมที่ดินได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา61 แล้ว โดยมีผู้ตรวจราชการกรมที่ดินเป็นประธานคณะกรรมการฯในครั้งนี้ด้วย
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นฟ้องกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน กรณีละเลย ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ พื้นที่ 5,083 ไร่ พร้อมขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินค่าเสียหาย 700 กว่าล้านบาท
ทั้งนี้คำพิพากษาดังกล่าวได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของ รฟท. รฟท.จึงสามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิ์ดีกว่า อีกทั้งที่ดินบริเวณที่ศาลมีคำพิพากษากล่าวอ้างถึง มีฐานะเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งสามารถใช้จัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปได้ หาใช่มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี ตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใด
ประกอบกับ รฟท. ได้ตรวจสอบเอกสารทางทะเบียนจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า มีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนที่ดินของ รฟท. ประมาณ 850 แปลง แต่ รฟท. ดำเนินการคัดถ่ายเอกสารมาได้บางส่วน จำนวน 497แปลง
ขณะเดียวกันยังปรากฏข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของคณะทำงานตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 822/2565 ลงวันที่ 4 เม.ย. 65 ว่า จากการลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบข้อมูลหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่ดินที่ผู้ฟ้องคดี อ้างสิทธิ์ในเบื้องต้นพบว่า มีการออกโฉนดที่ดิน จำนวนประมาณ 396 ฉบับ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำนวนประมาณ 376 ฉบับ รวมเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้งสิ้น จำนวนประมาณ 772 ฉบับ
นอกจากนี้จากกรณีดังกล่าวจึงเป็นความปรากฏขึ้นจากการที่ รฟท. ได้มีหนังสือร้องขอให้ อธิบดีกรมที่ดิน ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ว่าได้มีการออกหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินไปโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าจะเป็นการตรวจสอบพบข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน อธิบดีกรมที่ดินก็สามารถมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินไปก่อนได้ โดยไม่จำต้องรอให้ตรวจสอบพบหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมด หรือ พบข้อเท็จจริงจนชัดแจ้งแล้ว จึงจะมีคำสั่งแต่งตั้ง ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงละเลยต่อหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน