“ไชยันต์ ไชยพร”โพสต์ "ซินเดอเรลลา กับ แกนนำพรรคก้าวไกล"

20 พ.ค. 2566 | 07:28 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2566 | 07:30 น.

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แสดงความเห็นทางวิชาการ "ซินเดอเรลลา กับ แกนนำพรรคก้าวไกล" ต่อประเด็น “พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” ของพรรคก้าวไกล

วันนี้ (20 พ.ค. 66) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "ซินเดอเรลลา กับ แกนนำพรรคก้าวไกล" ระบุว่า

ความเห็นวิชาการต่อประเด็น “พรรคใหญ่กว่าคน  ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” ของพรรคก้าวไกล จากประเด็นที่มวลชนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล พากันออกมาปฏิเสธการให้พรรคชาติพัฒนากล้า เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม 

ทำให้คุณพิธา หัวหน้าพรรคฯ ออกมาน้อมรับ และยืนยันหลักการ “พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค”

ผมมีประเด็นสำคัญที่พบจากการศึกษางานของนักวิชาการตะวันตกที่ศึกษาเรื่องพรรคการเมือง ดังนี้ 

นักวิชาการตะวันตกต่างมีข้อสังเกตที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของสมาชิกพรรคที่เป็นคนส่วนใหญ่  

อย่าง Ostrogorski เห็นว่า พรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมาก (mass-party organization) แม้ว่าจะมีข้อดีที่สมาชิกพรรคอาจจะเป็นตัวที่แก้ปัญหาข้อขัดแย้งในการประเมินตัดสินทางการเมืองที่แตกต่างกันในหมู่ผู้นำ และ ส.ส. ของพรรคได้

แต่ในมุมกลับ  Ostrogorski ก็วิตกว่า ผู้นำ และ ส.ส. พรรคอาจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสมาชิกพรรคที่เป็นองค์กรนอกรัฐสภา (extra-parliamentary organisations) และสมาชิกพรรคเหล่านี้ไม่ได้ต้องมีความรับผิดชอบต่อการผลักดัน หรือกดดันของพวกตนเท่ากับผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรค หรือ ส.ส.

ในขณะที่ Robert Michels ไม่เชื่อว่าจะเกิดสภาพเช่นนั้นกับพรรคการเมือง เพราะเขาเชื่อภายใต้ทฤษฎี “กฎเหล็กแห่งคณาธิปไตย”  อย่างไรเสีย คณะบุคคลในพรรคจะมีอำนาจอิทธิพลที่สุด 

ส่วน Seyd และ Whiteley เห็นว่า โดยทั่วไป สมาชิกพรรคและนักเคลื่อนไหวของพรรค (party members and activists) อาจเป็นได้ทั้ง “พวกสุดโต่ง” (extremists) หรือ “ทหารเดินเท้าที่รับคำสั่งอย่างเดียว” (unquestioning foot soldiers) 

ซึ่งสำหรับ Seyd และ Whiteley  สมาชิกพรรคการเมืองของอังกฤษเปรียบได้กับ “ซินเดอเรลลา” (Cinderellas)

จากความเห็นของนักวิชาการที่มีต่อบทบาทในพรรคการเมืองของสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นคนส่วนใหญ่ (the many) จะพบว่า 

มีฝ่ายหนึ่งเกรงว่า สมาชิกพรรคอาจจะมีบทบาทมากเกินไปจนสร้างปัญหากับหัวหน้าพรรค และ ส.ส. ของพรรคที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและการเมืองภายใต้กรอบระบอบรัฐสภา  

ในขณะที่สมาชิกพรรคที่เป็นคนหมู่มากนั้น ไม่ได้จะต้องรับผิดชอบต่อข้อเสนอของพวกตน และหากเกิดความผิดพลาด ก็ยากที่จะหาใครรับผิดชอบได้ท่ามกลางการลงมติของคนหมู่มาก 

ส่วนอีกความเห็นหนึ่งก็ไม่วิตกว่า จะเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นตามหลัก “กฎเหล็กแห่งคณาธิปไตย”  

และต่อมานักวิชาการกลุ่มหนึ่ง จึงเห็นว่า สมาชิกพรรคที่เป็นมวลชนมีสองสภาพ นั่นคือ 

อาจจะเป็นมวลชนที่แข็งขันและสุดโต่ง หรือไม่ก็เป็นทหารเดินเท้าที่รับคำสั่งอย่างเดียว !

ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการกลุ่มหลังจึงขนานนามสมาชิกพรรคที่เป็นคนส่วนใหญ่ว่าเป็น “ซินเดอเรลลา (จำนวนมาก)” (Cinderrellas) 

ที่ในยามปกติก็จะพร้อมยอมตามหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค แต่หาก “เปลี่ยนองค์” ขึ้นเมื่อใดก็จะมีพลังโดดเด่นที่อาจอยู่เหนือหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรคได้

ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองจะต้องเปิดพื้นที่ให้กับสมาชิกพรรคที่เป็นคนส่วนใหญ่ แต่ก็พึงต้องระวังด้วย  

เพราะมวลชนสมาชิกพรรคอยู่ในสภาพ “ซินเดอเรลลา” ที่จะผุดจากการเป็นสาวรับใช้ขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นเมื่อไรก็ได้  

แต่ครั้นจะให้อยู่ในสภาพ “สาวรับใช้” ที่เป็นคล้ายทหารเดินเท้าที่ไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียง ก็จะไม่ใช่พรรคการเมืองในความหมายของพรรคการเมือง 

แต่ถ้าปล่อยให้มีพลังอำนาจอิทธิพลมากเกินไปก็อาจจะทำให้พรรคไม่สามารถเป็นพรรคได้อีกต่อไป 

ทั้งนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคที่เป็นเอกบุคคล (the one) และคณะกรรมการบริหารพรรคที่เป็นคณะบุคคล (the few) ที่จะเปิดพื้นที่ให้มวลชน (the many)

ขณะเดียวกัน หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคก็สามารถทัดทาน และหาจุดสมดุลของสัมพันธภาพของอำนาจขององค์ประกอบทั้งสามนี้  

หนทางที่ดีที่สุดคือ การร่างธรรมนูญพรรคจัดโครงสร้าง การระดมความคิดเห็น และกระบวนการการหาข้อยุติหรือฉันทานุมัติภายในพรรคเพื่อเป็นกฎกติกาสำหรับทุกฝ่าย 

.................

แหล่งอ้างอิงเกี่ยวกับข้อควรพึงระวังปัญหาอันจะเกิดจากอิทธิพลของประชาชนผู้สนับสนันพรรค ดู P. Seyd and P. Whiteley, Labour’s Grassroots, (Oxford: Oxford University Press: 1992) และ P.Whiteley and J. Richardson, True Blues, (Oxford: Clarendon: 1994)