นายสมชาย แสวงการ ได้แชร์โพสต์เฟซบุ๊กของ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษา Chuchart Srisaeng กรณีหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ยังเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางขณะนี้ โดยมีข้อความว่า
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้เปิดหลักฐานการโอนหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โดยเป็นหลักฐานจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า นายพิธา โอนหุ้นจำนวน 42,000 หุ้น ให้กับ นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นน้องชาย ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2566
งบการเงินฉบับย่อของบริษัทไอทีวี และบริษัทย่อย ที่ระบุว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 มีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 28 เมษายน ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา
นายเรืองไกร กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้เพื่อเตือนความจำ นายพิธา และพรรคก้าวไกล ที่ตอบว่าจำไม่ได้ว่าโอนหุ้นไปเมื่อไร ส่วนเอกสารงบการเงินฉบับย่อที่ตนนำมาเปิดเผย เป็นการบ่งชี้ว่าบริษัทมีการดำเนินธุรกิจสื่อ
เอกสารสำคัญที่ควรจะดูก็คือ หมายเหตุประกอบงบการเงิน ไม่ใช่คำถามท้ายรายงานการประชุมที่มีการนำออกมาเผยแพร่กันในขณะนี้ โดยหมายเหตุข้อ 10 ซึ่งออก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ระบุว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เขาทำธุรกิจสื่อแล้วตามที่เขาอธิบายเป็นสื่อมวลชน ไม่ได้กลับมาทำสถานีไอทีวีแล้ว เขาทำสื่ออื่นแล้ว
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งถือหุ้นในกิจการ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งกรณีนี้เข้าลักษณะของสื่อมวลชนใดๆ และการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตีตก 3 คำร้องถือหุ้นสื่อของ นายพิธา ก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อ กกต. ประกาศรับรองผล ส.ส. นายพิธา มีสถานะเป็น ส.ส. แล้ว ตนก็จะยื่นร้องใหม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ซึ่งยิ่งจะเป็นผลดี เพราะเรื่องจะไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ที่มีการเปิดคลิปรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นออกมากันในขณะนี้ ไม่ใช่สาระสำคัญของประเด็นที่ร้อง เพราะกฎหมายเขียนว่าห้ามเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนใดๆ พยานหลักฐานที่ควรไปดูคือ
....1. นายพิธา ถือหุ้นตามทะเบียนผู้ถือหุ้นหรือไม่ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นตามรายงานการประชุม
...2. ทำธุรกิจสื่อมวลชนใดๆ ก็ไปดูวัตถุประสงค์การจดทะเบียนบริษัท และดูจากหมายเหตุงบการเงิน
ส่วนที่ระบุว่า ศาลปกครองสูงสุด เคยมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2556 ว่า บริษัทไอทีวี ปิดไปแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานการดำเนินกิจการวิทยุโทรทัศน์นั้น นายเรืองไกร กล่าวว่า ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการที่ นายพิธา ถือหุ้นแล้วไม่ผิด เพราะกฎหมายห้ามผู้สมัครไม่ให้ถือหุ้นสื่อ ซึ่ง นายพิธา ก็มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี 42,000 หุ้น
โดยไม่ได้มีการระบุท้ายการถือหุ้นว่าเป็นผู้จัดการมรดก และหมายเหตุงบการเงินปี 2566 ของบริษัทก็ระบุว่า บริษัททำสื่อมวลชนแขนงอื่นนอกจากสถานีไอทีวีแล้ว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 และจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 นี้
คำว่า สื่อมวลชนหมายความว่าอะไร รัฐธรรมนูญ 2550 ระบุถึงวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และเดี๋ยวนี้คำว่าแมสมีเดียมันมีทั้งอนาล็อกและดิจิทัล ซึ่งก็เข้าตามวิชาการอยู่แล้ว และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีของ นายธนาธร ถือหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ก็ไม่ได้ทำสถานีโทรทัศน์เหมือนกับไอทีวี หรือพิมพ์หนังสือเหมือนมติชน หรือไทยรัฐ แต่เขาพิมพ์หนังสืออื่น จึงไม่ต้องไปดูว่าไอทีวีมีการออกอากาศ หรือยุติการออกอากาศแล้ว จะแก้ประเด็นเอาเก่งๆ แม่นๆ หน่อย มีคนตั้งเป็นร้อย คนเชียร์ตั้ง 14 ล้าน หาคนเก่งไม่ได้เลยหรือ นายเรืองไกร กล่าว
ต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัวในฐานะที่เคยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล
การโอนหุ้นที่ นายพิธา โอนให้ นายภาษิณ ถ้า นายพิธา โอนในฐานะผู้จัดการมรดก ต้องระบุไว้ในหลักฐานการโอนว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ผู้โอน นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้รับโอน แต่ตามหลักฐานที่ นายเรืองไกร นำมาเปิดเผยระบุเพียงว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้โอน/ฝาก นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้รับโอน/ฝาก เท่านั้น เมื่อหลักฐานเป็นเช่นนี้จึงต้องฟังว่า หุ้นดังกล่าวเป็นของ นายพิธา ไม่ใช่เป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
แต่แม้จะฟังว่าหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง นายพิธา ในฐานะทายาทของผู้ตายก็มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกหุ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งที่ตกมาเป็น นายพิธา ตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599