นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในผู้ที่ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล กล่าววันนี้ (12 มิ.ย.) กรณี “ข่าวสามมิติ” นำคลิปเสียงบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นของ ไอทีวี มาเปิดเผย ซึ่งไม่ตรงกับเอกสารที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ไม่ได้หมายถึงบันทึกการประชุมเท็จ แต่เป็นการจดบันทึกการประชุมที่คลาดเคลื่อน
ซึ่งเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ผู้ถือหุ้นที่ตรวจพบ หรือสงสัยว่ามีการบันทึกการประชุมคลาดเคลื่อน ก็สามารถแจ้งไปยังบริษัทเพื่อแก้ไขบันทึกการประชุมได้ เป็นเรื่องระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัท
นายเรืองไกร ยังกล่าวต่อไปว่า คลิปเสียงบันทึกการประชุมที่นำมาเปิดเผย ไม่ได้ทำให้น้ำหนักในการถือหุ้นไอทีวีซึ่งเป็น “กิจการสื่อ” ลดน้อยลงไป เพราะวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัทที่จดแจ้งเอาไว้ ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนหรือยกเลิกไป ยังคงวัตถุประสงค์เดิมอยู่ และคำว่า “สื่อ” ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องรับสัมปทาน หรือมีสัญญาร่วมการงานกับรัฐเท่านั้น แต่ประกอบกิจการอย่างอื่นก็เป็นสื่อได้ เช่น ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็เป็นสื่อ หรือรับพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่างๆ เหมือน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด กรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็มีสถานะเป็น “สื่อ” เช่นกัน
ฉะนั้น เรื่องบันทึกการประชุมจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ตนเห็นข่าวแล้วก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า จะมาแถลงตื่นเต้นอะไรกัน จึงขอเสนอให้ผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ ไปเปิดพจนานุกรมดูว่า คำว่า “สื่อ” หรือ mass media หมายความว่าอะไร มีอะไรที่เป็น mass media บ้าง
นอกจากนั้น ในบันทึกการประชุมฉบับเต็มของไอทีวี ก็มีการรายงานแผนธุรกิจ และแผนการทำสื่อรูปแบบต่างๆ ระบุเอาไว้ชัดเจน ตั้งแต่ก่อนจะจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่เสียอีก ฉะนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องการเมืองที่มีการวางแผนเล่นงานนายพิธา ตามที่มีการตั้งข้อสงสัยกัน
ส่วนกรณีที่ กกต.ตีตกคำร้องของตน เกี่ยวกับคุณสมบัตินายพิธาที่ยังถือหุ้นไอทีวีอยู่นั้น นายเรืองไกร บอกว่า ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งจาก กกต. ก็กำลังรอพิจารณาเหตุผลอยู่เหมือนกัน แต่การตีตกคำร้องก็ไม่ได้แปลว่า นายพิธา จะรอดเรื่องหุ้นไอทีวี เพราะ กกต.ตีตกคำร้องในแง่ที่ว่าพ้นระยะเวลาส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิจารณาวินิจฉัยเท่านั้น ซึ่งต้องส่งก่อนเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ กกต.ตั้งแท่นดำเนินคดีอาญา ตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 151 จึงแสดงให้เห็นว่า กกต.เชื่อเองว่า นายพิธา ไม่มีคุณสมบัติลงสมัคร ส.ส. และรู้ตัวเองตั้งแต่ต้น แต่ยังฝืนลงสมัคร ซึ่งในความเห็นของตนถือว่าหนักกว่าคำร้องที่ตนยื่นไปด้วยซ้ำ
นายเรืองไกร ยังฝากถึงหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงนี้ แสดงความดีใจจนออกนอกหน้าเกี่ยวกับเรื่องหุ้นนายพิธา ว่าควรศึกษาข้อกฎหมายและเอกสารหลักฐานอื่นๆ ให้รอบคอบ เพราะหลักฐานไม่ได้มีแค่บันทึกการประชุมเพียงแผ่นเดียว แต่ก็ไม่ได้ขัดข้องหากใครจะดีใจ ก็ถือเป็นความหวังอีกเฮือกหนึ่งของผู้สนับสนุนนายพิธา แต่ตนอยากขอให้ดูเรื่องนี้ยาวๆ