ถก8พรรคร่วมตั้งรัฐบาลไร้ข้อสรุป “ประธานสภา”

02 ก.ค. 2566 | 06:46 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2566 | 06:53 น.

ถก 8 พรรคยังไร้ข้อสรุป เก้าอี้ประธานสภา "พิธา"ยิ้มแห้งบอกทิศทางหารือไปได้ดี  ด้าน "เพื่อไทย"ให้คำตอบก่อนเที่ยงพรุ่งนี้(3ก.ค.) ขณะที่ "วันนอร์" ขอสละสิทธิ์โควต้ารองประธานสภา

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงผลการประชุมหัวหน้าพรรค และแกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในวันนี้ (2 ก.ค.) ถึงประเด็นตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า มีการพูดคุยกันเล็กน้อย และทิศทางเป็นไปด้วยดี มีความคืบหน้า บนพื้นฐานที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมีความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล

ทั้งนี้นายพิธา ปฏิเสธที่จะตอบคำถามในกรณีที่พรรคเพื่อไทย ยอมให้พรรคก้าวไกลดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเงื่อนไขที่พรรคก้าวไกล จะต้องสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี หาก"นายพิธา" ไม่สามารถได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากรัฐสภาได้

ถก8พรรคร่วมตั้งรัฐบาลไร้ข้อสรุป “ประธานสภา”

โดยย้ำเพียงว่าพรรคก้าวไกลมีความปรารถนาในการเร่งจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ และหวังว่า จะไม่มีประเด็นขึ้นใหม่มากระทบต่อการตัดสินใจดังกล่าว และควรรอความชัดเจนในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) โดยยอมรับข้อกังวลที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมต่อการดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล เพียงแต่ขออย่าเพิ่งมีการเปิดประเด็นใหม่ เพราะอาจจะมากระทบต่อการดำเนินการในปัจจุบันได้ และยืนยันว่า การประชุมของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นไปได้ด้วยดี มีเอกภาพ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเช่นเดิม

ด้านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวย้ำว่าการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย มีเจตจำนงมุ่งผลสัมฤทธิ์ ให้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะประโยชน์ของ 8 พรรคฯ เท่านั้น เพราะหากผลสรุป ไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง ก็จะส่งผลกระทบต่อ 8 พรรคฯ ด้วย แต่ยืนยันว่า ข้อสรุปในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) จะเป็นประโยชน์แน่นอน

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

นอกจากนี้ ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถาม หากมีการเสนอชื่อ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จากพรรคการเมืองอื่น โดยระบุว่า เป็นคำถามที่ตอบยาก และไม่อยากให้มีประเด็นใหม่ มากระทบต่อการดำเนินการในขณะนี้ และขอให้รอความชัดเจนในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) พร้อมยืนยันว่า กระบวนการในการลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคเพื่อไทยนั้น ส.ส.จะต้องยึดมติพรรค แม้จะมีเอกสิทธิ์ส่วนตัวก็ตาม 

ถก8พรรคร่วมตั้งรัฐบาลไร้ข้อสรุป “ประธานสภา”

ทั้งนี้ สื่อมวลชน พยายามสอบถามถึงกระแสข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร, การลงมติอย่างอิสระ หรือฟรีโหวตของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยโดยนายพิธา ได้ย้ำทุกคำถามว่า "อย่าเพิ่งเปิดประเด็นใหม่" เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสน เปรียบเสมือนการกินข้าวทีละคำ ดื่มชาทีละถ้วย 

นายวันมูหะหมัดนอร์ มะนาหัวหน้าพรรคประชาชาติ

ด้าน นายวันมูหะหมัดนอร์ มะนาหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงพรรคประชาชาติ เป็นพรรคการเมืองลำดับที่ 3 ของพรรคร่วมฯ ว่า พรรคประชาชาติ ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ และต้องการให้ 8 พรรคร่วมฯ จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จึงยินดีเสียสละ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยสำเร็จ และหวังว่า ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ 40 กว่าชั่วโมงขณะนี้ สร้างชัยชนะให้ประชาชน ในการได้รัฐบาลประชาธิปไตยได้ เพื่อไม่ให้โอกาสตกไปกับฝ่ายที่รออยู่ เพราะประเทศ เสียเวลาไป 8-9 ปี เพื่อรอประชาธิปไตยกลับสู่ประชาชน จึงหวังว่า ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จะเข้าใจ เพื่อให้ชัยชนะเป็นของประชาชนที่รอคอยรัฐบาลใหม่อยู่ ซึ่งหากทำพลาด ประชาชนที่ยังเชียร์อยู่ อาจจะไม่ให้อภัยในความผิดหวังครั้งนี้ 

ถก8พรรคร่วมตั้งรัฐบาลไร้ข้อสรุป “ประธานสภา”

อย่างไรก็ตามในการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ (2 ก.ค.) ยังมีการติดตามการทำงาน ของคณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition Team ในคณะทำงานย่อยด้านพลังงาน  ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และสังคม และคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ และปากท้องประชาชน ซึ่งที่ประชุม ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดการราคาน้ำมันดีเซล ที่จะมีการขึ้นราคา ซึ่งที่ประชุมฯ ก็มีความเห็นตรงกันว่า ยังไม่มีความจำเป็นในการขึ้นราคาในขณะนี้ และสามารถขยายเวลาออกไปได้ก่อน แต่ทั้งนี้ ก็จะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน รวมถึงค่าไฟฟ้า ที่จะต้องมีการหาสมดุลราคาพลังงาน และสมดุลสิ่งแวดล้อม ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงานระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาค่าครองชีพให้ประชาชน

นอกจากนั้น ยังเห็นชอบให้มีการตั้งวอร์รูม เพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งส์คอลเซ็นเตอร์ โดยมีตำรวจ และดีเอสไอ รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาติดตามการแก้ปัญหา  การเปลี่ยนระบบเน็ตประชารัฐ เป็นอินเตอร์เน็ตประชาชน ใช้ระบบไฟเบอร์ออปติก ซึ่งค่าใช้จ่ายจะถูกกว่า และระบบเสถียรกว่า รวมถึงการพัฒนาระบบดิจิทัลไอดีการ์ด ให้บัตรประชาชนใบเดียวของประชาชน สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข และการศึกษาได้มากขึ้น และการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้ประโยชน์จากสัญญาเขตการค้าเสรี หรือ FTA ทั้งที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ และผลักดันให้เกิดตลาดใหม่ ๆ ในเขตพื้นที่ที่กรเจรจายังไม่สำเร็จ หรือยังไม่มีการเจรจา เช่น FTA ไทย-ยุโรป หรือการเปิดตลาดกับตุรกี และดูไบ หรือประเทศที่เกี่ยวข้อพลังงาน และราคาปุ๋ย เพื่อให้การส่งออกไทยกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ในการสร้างแรงจูงใจในการชำระคืน และช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งในการลดค่าปรับ เน้นการลดเงินต้น มากกว่าดอกเบี้ย การแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการ ครู และตำรวจ ที่มีรายรับไม่พอรายจ่าย ไม่มีโอกาสได้รับเงินตอบแทนที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ที่ประชุมฯ จึงมีการเสนอให้กรมบัญชีกลางรวบรวมข้อมูล และพิจารณาการหักเงินเดือนเพื่อชำระเงินกู้ โดยจะต้องให้มีเหลือสำหรับใช้จ่ายชีวิตประจำวัน ไม่ต่ำกว่า 30% ของเงินเดือน และให้สามารถชำระเงินต้นเงินกู้ได้ เพื่อลดยอดเงินกู้

“ ปลายทางการทำงานของ Transition Team และคณะทำงานย่อย จะได้ข้อสรุปเพื่อเป็นนโยบายของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่ตนเอง จะใช้ในการแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภา และเป็นวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป เพื่อให้การบริราชการแผ่นดิน เป็นไปอย่างต่อเนื่อง”นายพิธากล่าว