วันที่ 3 ก.ค.2566 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวงศาลอ่าน คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.14/2565 หมายเลขแดงที่ อม.19/2566 ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย จำเลย ยื่นฟ้องวันที่ 18 ส.ค. 2565
โดยกล่าวหาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จาก บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (บริษัทจัดการฯ) หรืออีสท์ วอเตอร์ ซึ่งมิใช่ญาติ
โดยรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ จำนวน 39,300 บาท และรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย อันอาจคำนวณเป็นเงินได้จำนวน 20,780 บาท
ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีราคาเกินกว่าสามพันบาท อันมิใช่ทรัพย์สิน และประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย ทั้งมิใช่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามประกาศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดย ธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2543 ข้อ 5 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103, 122 พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา4,128,169,194
จําเลยไม่มาศาล จึงพิจารณาคดีโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจําเลย จําเลยแต่งตั้งทนายความมาดำเนินการแทน และให้การปฏิเสธ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้ว เห็นว่า ทางไต่สวน นาย ช. กรรมการบริหารและการลงทุนบริษัทจัดการฯ ขณะเกิดเหตุ เบิกความขัดแย้งแตกต่างกันรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลย ทีมงานของจำเลย หรือบุตรชายของจำเลยเป็นผู้นำเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินไปมอบให้พยาน ไม่อาจ รับฟังเป็นความจริงได้
ทั้งคำเบิกความยังขัดแย้งกับคำให้การจำเลยที่ว่าจำเลยให้ทีมงานของจำเลยไปจัดซื้อ ตั๋วโดยสารเครื่องบินด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน หรือให้ทีมงาน ของจำเลยไปจัดซื้อ เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาของการออกตั๋วโดยสารเครื่องบินและการชำระเงิน ได้ความว่า
กรรมการบริหารและการลงทุนบริษัทจัดการฯ เป็นผู้ดำเนินการออกตั๋วโดยสาร เครื่องบิน โดยให้บริษัท อ. และบริษัท ร. เป็นผู้จองและออกตั๋วโดยสารเครื่องบินแล้วเรียกเก็บเงินค่าตั๋วโดยสาร เครื่องบินจากบริษัทจัดการฯ ซึ่งต่อมาบริษัทจัดการฯ อนุมัติให้ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินดังกล่าวจาก เงินค่ารับรองกรรมการ (ตั๋วเครื่องบินรับรองลูกค้าบริษัท) แล้ว พยานหลักฐานที่ไต่สวนจึงรับฟังเป็นความจริง ได้ว่า
บริษัทจัดการฯ เป็นผู้ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทจัดการฯ ชำระเงิน ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินหลังจากที่จำเลยใช้ตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางก็ตาม แต่เหตุดังกล่าวเป็นผล สืบเนื่องมาจากการดำเนินการของบริษัทจัดการฯ ในการเบิกเงินค่ารับรองกรรมการเพื่อชำระเงินค่าตั๋วโดยสาร เครื่องบินเท่านั้น
ส่วนที่บริษัท อ. และบริษัท ร. คืนเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินให้แก่บริษัทจัดการฯ นั้น ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทจัดการฯ ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินแล้ว กรณีจึงไม่มีผลทำให้บริษัท จัดการฯ มิใช่เป็นผู้ที่ไม่ได้ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน
เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทจัดการฯ และตามรายละเอียดแนวทางการใช้จ่ายค่า รับรองของคณะกรรมการบริษัท บริษัทจัดการฯ ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินค่ารับรองในนามคณะกรรมการบริษัท ให้จำเลยได้
ประกอบกับตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุในระบบสารบัญของ สำนักรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ไม่พบว่ามีการขออนุญาตเดินทางไปราชการต่างประเทศของจำเลย
ทำให้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยไม่ได้เดินทางไปราชการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศมาเลเซีย แต่เป็นการเดินทางไปส่วนตัวแล้ว ทั้งทางไต่สวนได้ความจากคำเบิกความของนาย ช. กรรมการบริหารและการ ลงทุนบริษัทจัดการฯ ขณะเกิดเหตุว่า บุตรชายของจำเลยให้ดูแลจำเลยในการเดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศมาเลเซีย กับเดินทางไปพร้อมจำเลยด้วย
จึงเชื่อว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทจัดการฯ เป็นผู้ซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินให้จำเลยโดยกรรมการบริษัทเป็นผู้ขออนุมัติเบิกเงินจากเงินค่ารับรองกรรมการ ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน และการที่จำเลยใช้ตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปกลับ บ่งชี้ได้ว่าจำเลยมี เจตนารับตั๋วโดยสารเครื่องบินนั้น
เมื่อตั๋วโดยสารเครื่องบินมีราคา เกินกว่า 3,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพ - ปักกิ่ง และกรุงเทพ - กัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็น ประโยชน์อื่นใดซึ่งมีราคาหรือมูลค่าเกิน 3,000 บาท จากบริษัทจัดการฯ ซึ่งมิใช่ญาติ จึงเป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 122 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้าง มากให้ลงโทษปรับกระทงละ 60,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 120,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระ ค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30