เปิดใจ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" เบื้องหลัง จบดีล "ประธานสภา"

06 ก.ค. 2566 | 04:02 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2566 | 08:42 น.

เปิดใจ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" หลังได้รับโหวต"ประธานสภา" พร้อมเปิดเบื้องหลัง จบดีล "ชัยธวัช ตุลาธน" เข้าหารือกลางดึก นึกไม่ถึงเพื่อไทยเสนอชื่อนายวันนอร์ เผยแนวทางการทำงาน เผยขั้นตอนโหวตนายกฯ และเงื่อนไขนายกฯคนนอก

หลังจากการโหวตประธานสภา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภา และถือเป็นผู้ได้รับเลือกเนื่องจากไม่มีสมาชิกเสนอชื่อแข่ง

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือ นายวันนอร์ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ว่าที่ประธานรัฐสภา ถึงเบื้องหลังก่อนปิดดีล เสนอชื่อ นายวันนอร์ นั่งเก้าอี้ประธานสภาแต่เพียงผู้เดียว

นายวันนอร์ เล่าถึงเหตุการณ์ในกลางดึก วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้เข้าหารือที่บ้านพักของตนเองว่า นายชัยธวัชต้องการสอบถามข้อเท็จจริง เกี่ยวกับข้อมูลใหม่ที่ได้รับจากพรรคเพื่อไทยในเรื่องการเสนอชื่อประธานสภา เนื่องจากนึกไม่ถึงว่าทำไมตำแหน่งประธานสภาจึงมาตกที่ตนเอง เนื่องจากในช่วงกลางวันของวันเดียวกัน ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้

จึงต้องการสอบถามให้เกิดความแน่ชัดว่าตนเองจะยินดีรับตำแหน่งหรือไม่ และอธิบายเหตุผลในการเสนอชื่อของตนเอง รวมถึงสอบถามความร่วมมือกันในการทำงานกับพรรคก้าวไกลว่าจะเป็นอย่างไร โดยได้คุยกันจนถึง 24.00 น. ซึ่งนายชัยธวัชแจ้งว่า จะนำข้อหารือนี้ไปแจ้งต่อผู้ใหญ่ในพรรคก้าวไกล และแจ้งผลการตัดสินใจของพรรคก้าวไกลให้ทราบอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น

โดยนายชัยธวัช ระบุว่าพรรคก้าวไกลได้ประสานกับพรรคเพื่อไทยอยู่ตลอดเวลา และได้มีการหารือร่วมกันล่าสุดว่า หากมีความไม่ลงตัว และไม่มีทางออก จึงต้องการให้ตำแหน่งประธานสภาแก่คนกลางเพื่อเป็นที่ยุติ จึงได้เสนอให้ตนเองเป็นคนกลางดังกล่าว 

ซึ่งในระหว่างที่หารืออยู่กับนายชัยธวัชนั้น ทางพรรคเพื่อไทยก็ได้ติดต่อมาหา เพื่อแจ้งว่าขอเสนอชื่อของตนเป็นประธานสภา และขอให้ตนรับตำแหน่ง โดยที่พรรคเพื่อไทยไม่ทราบว่าตนเองกำลังนั่งหารืออยู่กับพรรคก้าวไกลด้วย

นายวันนอร์ ตอบกลับพรรคเพื่อไทยไปว่า ทางพรรคต้องไปหารือกับทางก้าวไกลให้ลงตัว และแจ้งกับอีก6พรรคด้วย หากมีความจำเป็นต้องรับตำแหน่งตนก็ยินดี เนื่องจากเหลือเวลาอีกเพียง1วันกว่า จำเป็นต้องคุยกันให้จบ 

 

ส่วนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น หากไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯได้ถึง 376 เสียง ย่อมทำให้การโหวตในวันนั้นจบไป และจะต้องบรรจุระเบียบวาระเข้ามาใหม่เพื่อโหวตนายกฯ โดยสามารถโหวตใหม่ในวันรุ่งขึ้น หรือ เว้นไว้กี่วันก็ได้ ขึ้นกับประธานสภาจะบรรจุระเบียบวาระกันใหม่ โดยระเบียบวาระของสภาที่ผ่านมาจะมีการประชุมทุกวันพุธ และพฤหัสบดี เว้นแต่จะมีการนัดพิเศษ

สำหรับเงื่อนไขที่จะนำไปสู่นายกฯคนนนอก หรือการเสนอชื่อผู้ที่อยู่นอกบัญชีแคนดิเดตนายกฯนั้น นายวันนอร์อธิบายว่า จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐสภาไม่สามารถโหวตรับรองผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯในบัญชีแคนดิเดตได้สำเร็จ 

จากนั้นหากจะเสนอชื่อบุคคลภายนอก ต้องมีเสียงโหวต 2ใน3 รัฐสภาเห็นชอบให้เสนอชื่อบุคคลภายนอกได้ เมื่อผ่านขึ้นตอนนี้ได้แล้ว จึงสามารถเสนอชื่อบุคคลนอกบัญชีเพื่อเข้าสู่การโหวตรับรองให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยต้องมีเสียงรับรองเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือประมาณ 376 เสียง เช่นกัน

ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานสภา ต่อประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนนั้น นายวันนอร์ระบุว่า จะปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ,รัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองสามารถเสนอเรื่องเข้ามาได้ โดยต้องมีผู้ลงชื่อเสนอ 20คนขึ้นไป หรือประชาชนจำนวน 20,000 ชื่อ ก็สามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอต่อสภาได้

โดยจะพิจารณาเพื่อบรรจุระเบียบวาระตามระเบียบข้อบังคับการประชุม และการพิจารณาของคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากตน โดยอาจมีรองประธานคนใดคนหนึ่ง เป็นประธานคณะ และมีฝ่ายกฎหมายของสภา หรือผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกร่วมพิจารณาด้วย เนื่องจากการทำงานของสถาบันนิติบัญญัติจะต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบ เพราะกฎหมายที่ผ่านออกไปนั้นฝ่ายบริหารต้องสามารถนำไปใช้ได้

ทั้งนี้ หากญัตติใด หรือกฎหมายใดที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ,รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย จะไม่สามารถบรรจุระเบียบวาระได้ ซึ่งเป็นไปโดยหลักการของทุกยุค เพราะหากมีการส่งตีความไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ก็จะส่งผลเสียต่อสภาในภายหลัง

ต่อข้อถามเรื่องกระแสวิจารณ์ว่า การที่ นายวันนอร์ ได้รับตำแหน่งประธานสภา ก็เปรียบเสมือนพรรคเพื่อไทยได้เก้าอี้ประธานสภาด้วยนั้น นายวันนอร์ ชี้แจงว่า ตนเองเคยอยู่มาแล้วหลายพรรค ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ และไม่เคยมีปัญหากับพรรคที่ตนออกมา เป็นการจากกันด้วยดี

ฉะนั้น เมื่อตนเองออกมาจากพรรคเพื่อไทยแล้ว จึงไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทยอีก ตนมาสร้างพรรคประชาชาติ จึงเป็นคนของพรรคประชาติ ทำหน้าที่เพื่อพรรคประชาชาติ และประชาชน แต่ความเป็นเพื่อนคุ้นเคยสนิทสนมก็มีให้กับทุกพรรค ในเวลาที่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็แข่งขันกันอย่างเต็มที่