ประเด็นร้อนการแต่งตั้ง “ข้าราชการระดับสูง” ของกระทรวงต่าง ๆ ที่จะมีผู้บริหารเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายน 2566 ตกอยู่ในความสนใจของใครหลายคน โดยเฉพาะในช่วงของรัฐบาลรักษาการว่ามีอำนาจแต่งตั้งได้หรือไม่ และหากแต่งตั้งได้จะผิดมารยาททางการเมือง หรือการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ หลังจากรอรัฐบาลใหม่เป็นเวลานาน
ปัญหาก้อนนี้จุกอกหลายกระทรวง ครั้นจะเดินหน้าแต่งตั้งก็เกรง แต่หากไม่รีบตั้งก็กลัวว่า งานหลายอย่างอาจจะสะดุดลงได้ในช่วงของสุญญากาศทางการเมือง โดยเฉพาะกระทรวงขนาดใหญ่เกรดเอที่จำเป็นต้องมีหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนงานออกมาให้เกิดความต่อเนื่อง
แม้ที่ผ่านมา “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี จะแจ้งในที่ประชุมครม.คราวก่อน เพื่อคลายล็อกให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดของปลัดกระทรวงที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในขณะนี้ สามารถเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงคนใหม่ เพื่อมาทำหน้าที่แทนปลัดกระทรวงที่เกษียณอายุ เข้ามาให้ที่ประชุมครม. พิจารณาได้ก็ตาม
แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาไม่น้อยถึงความหมาะสม และมารยาททางการเมืองว่า กรณีเช่นนี้ "ไม่ควรทำ" เพราะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) เรื่อง การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง
นั่นคือไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน โดยเฉพาะตำแหน่งใหญ่อย่าง “ปลัดกระทรวง”
ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ รองลงมา เช่น รองปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ตรวจราชการ แม้กระทั่งตำแหน่งรองเลขาธิการหน่วยงานต่าง ๆ แม้ว่าจะอยู่ในอำนาจของปลัดกระทรวง หรือเลขาธิการ ระดับซี 11 จะสามารถทำได้ แต่การเสนอแต่งตั้งเข้ามาในครม.ก็ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องความเหมาะสมไม่แตกต่างกัน และอาจเข้าเงื่อนไข มาตรา 169 (2)
อย่างไรก็ดีในการประชุมครม. ครั้งล่าสุดในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ก็มีข้อน่าสงสัยอยู่ไม่น้อย หลังจากที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เสนอแต่งตั้ง นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. ขึ้นเป็น รองเลขาธิการ ปปง.
การแต่งตั้งครั้งนี้ แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ยอมรับว่า เหมือนเป็นการหยั่งเชิง แต่งตั้งแบบผู้บริการระดับรองขึ้นมาแบบลุยไฟ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ทราบว่า การแต่งตั้งผู้บริหารในระดับรองนั้น สามารถเสนอแต่งตั้งเข้ามายังครม.เพื่อพิจารณาได้
ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสนใจว่า ในการประชุมครม.ช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็น่าจะมีหน่วยงานอีกหลายแห่งจองคิวเสนอการแต่งตั้งผู้บริหารในระดับนี้เข้ามาให้ ครม.อนุมัติ หลายตำแหน่ง
โดยการเสนอรายชื่อผู้บริหารระดับสูงเข้ามาให้ครม.ไฟเขียวนั้น หน่วยงานที่เสนอเข้ามาสามารถแจ้งถึงความจำเป็นเร่งด่วนของตำแหน่งต่าง ๆ ที่เสนอมาให้กับครม. พิจารณาได้ ถ้าครม.เห็นด้วย และไม่มีข้อสังเกตอะไรเพิ่มเติม
ขั้นตอนต่อไป สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะเสนอเรื่องต่อไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งขั้นตอนนี้ก็อยู่ที่ กกต. แล้วว่า จะตัดสินใจไฟเขียว ตามที่ ครม. เสนอเข้ามาหรือไม่
จากการตรวจสอบข้อมูลของข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ 2566 โดยเฉพาะกระทรวงเกรดเอด้านเศรษฐกิจ พบว่า ในปีงบประมาณนี้จะมีผู้บริการเกษียณอายุราชการด้วยกัน 28 ตำแหน่ง ตั้งแต่ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการ และอธิบดี ประกอบด้วย
กระทรวงการคลัง มี 7 ตำแหน่ง คือ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข รองปลัดกระทรวงการคลัง, นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวง, นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวง, นางชลิดา พันธ์กระวี ผู้ตรวจราชการกระทรวง, นายเอด วิบูลย์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวง และนางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มี 7 ราย คือ นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายขจร เหล่าประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน, นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง, นายเข้มแข็ง ยุติธรรม-ดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร, นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม และ นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
กระทรวงอุตสาหกรรม มี 6 คน คือ นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายทาวัน ทวีถาวรสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่,นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายสหวัฒน์ โสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
กระทรวงพาณิชย์ มี 4 ตำแหน่ง คือ นายวันชัย วราวิทย์ รองปลัดกระทรวง, นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า,นายกำแหง กล้าสุคนธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ นางระวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กระทรวงพลังงาน มี 3 ตำแหน่ง คือ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน, นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน และ นายสุรีย์ จรูญศักดิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
กระทรวงคมนาคม มี 1 ราย คือ นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน
ส่วนการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในหลาย ๆ ตำแหน่งจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ภายใต้รัฐบาลรักษาการหรือไม่ เรื่องนี้...ต้องติดตามกันแบบห้ามกระพริบตาเลยทีเดียว