ความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ รายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ออกมานั้นจะพลิกโผต่างไปจากข่าวที่ออกมากันหรือไม่ต้องรอลุ้น
เช่นเดียวกับตำแหน่ง "เลขาธิการนายกรัฐมนตรี" ที่คาดการณ์กันว่า จะตกเป็นของ "นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช" ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยรับตำแหน่งทำหน้าที่นี้มาแล้วในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร
ประวัติ "หมอมิ้ง" นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2497 ที่จังหวัดพระนคร สมรสกับ แพทย์หญิงมัธยา เลิศสุริย์เดช มีบุตร 2 คน คือ นายมติ เลิศสุริย์เดช และ นางสาวมาพร เลิศสุริย์เดช
การศึกษา
พ.ศ. 2516 มัธยมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
พ.ศ. 2525 วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2527 แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2533 Fellowship In Public Administration From Ottawa University And Carleton University, Canada (September 1989 - August 1990)
พ.ศ. 2534 อนุมัติบัตรเวชศาสตร์ป้องกันคลีนิคจากแพทย์สภา
พ.ศ. 2535 National Health Administration, Japan (May - June 1992)
เส้นทางการเมือง
"หมอมิ้ง" นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตคนเดือนตุลาฯ ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาสวมหมวกเป็นประธานนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะไปเข้าร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขาช่วงเวลาสั้น ๆ กระทั่งกลับมาเรียนต่อและเข้าสู่วงการการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัย รั้งตำแหน่งเป็น เลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2517 โดย นายแพทย์เหวง โตจิราการ เป็นประธานพรรคคนแรก
ในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นพ.พรหมินทร์ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า สหายจรัส
หลังจบการศึกษาได้ไปรับราชการเป็นหมอชนบทในภาคอีสานอยู่หลายปี เมื่อพรรคพวกเครือข่ายคนเดือนตุลาที่ไปช่วยงานนายทักษิณ แนะนำให้มาช่วยงานด้านกลยุทธ์ จึงได้ลาออกและมาทำงานกับกลุ่มบริษัทชินวัตร ตำแหน่งสุดท้ายได้นั่งเป็น ซีอีโอ ของบริษัทชินแซทเทิลไลท์ คอมมิวนิเคชั่นส์
"หมอมิ้ง" เข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติ สังกัดพรรคไทยรักไทย ก่อนเลือกตั้งปี 2544 เขาดึงเพื่อนเก่าในนามบริษัทแมทช์บ็อกช์ มาวางกลยุทธ์หาเสียงให้กับนายทักษิณ อัดแคมเปญประชานิยมโดนใจรากหญ้าส่งให้นายทักษิณ ชินวัตร ขึ้นแท่น เป็นนายกรัฐมนตรี
นพ.พรหมินทร์ ตามติดนายทักษิณ นายกรัฐมนตรี เข้าทำเนียบรัฐบาล ทำงานเป็น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่อง 2 สมัย ทั้งในรัฐบาลทักษิณ 1 และทักษิณ 2 ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วย
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หายหน้าไปจากแวดวงการเมืองเพราะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยในคดียุบพรรคการเมือง เมื่อปี 2549 กลับมาทำงานบริหารกับธุรกิจของตระกูลชินวัตร ทั้งที่โรงพยาบาลพระราม 9 และมหาวิทยาลัยชินวัตร ในตำแหน่งอุปนายกสมาคมและประธานกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัยชินวัตร
ปลายปี 2564 นพ.พรหมินทร์ กลับเข้าสู่สนามการเมืองอีกครั้ง ร่วมเปิดตัวกลุ่มแคร์ พร้อมกับขุนพลของทักษิณอีก 3 ราย ที่ประกอบด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี , นายภูมิธรรม เวชยชัย และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล
ในวัย 69 ปี หมอมิ้ง เปิดหน้าเดินสายพบปะสื่อมวลชน ร่วมเวทีเสวนาทางการเมือง รวมถึงขึ้นเวทีปราศรัยกลางแจ้งและแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะมากขึ้น กระทั่งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมาเป็นลำดับที่สอง และมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้
จากนักวางกลยุทธ์เลขาคู่กายของนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 วันนี้ "หมอมิ้ง" ถูกคาดหมายว่า จะมาเป็น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำงานเคียงข้าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย