วันที่ 30 สิงหาคม 2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์
“ถ้าเป็นไปตามสื่อ ตนไม่ทราบว่านายพิชิตจะเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะเลขาคณะรัฐมนตรียังไม่ได้มีการรายงาน แต่หากเป็นกรณีเรื่องขาดคุณสมบัตินายพิชิต ได้มาบอกว่าข้อกล่าวหาตอนแรกเรื่องทุจริตนั้นมี แต่สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง และที่ลงโทษไปนั้นเป็นเรื่องละเมิดอำนาจศาล และที่สำคัญมันผ่านมาถึงขนาดนี้เกิน 10 ปีแล้ว เพราะคดีเกิดตั้งแต่ช่วงปี 2552 - 2553 แล้ว จึงไม่เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 และ 160 แต่ถ้าหากถูกจำคุกและพ้นโทษไม่ถึง 10 ปี เป็นไม่ได้”
เมื่อถามว่า การละเมิดอำนาจศาล ถือเป็นคำพิพากษาหรือเป็นคำสั่งของศาล นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นคำสั่ง ถ้าเป็นคำสั่งสามารถนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 98 และ 160 ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่อยากตอบ เพราะเป็นปัญหาใหม่อีกข้อหนึ่ง และโดยทั่วไปไม่ถือเป็นโทษอาญา
ส่วนคดีเรื่องจริยธรรม สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะหากจะตั้งข้อสังเกตเรื่องจริยธรรมก็สามารถตั้งได้กับทุกคน และจะหนักเบามากน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อถามว่า หน่วยงานใดควรจะเป็นผู้ชี้ขาดเรื่องจริยธรรม นายวิษณุ กล่าวว่า สภาต้องพิจารณา และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ชี้ขาด เพราะเป็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม คนอื่นจะไปชี้ หรือเลขาธิการครม. จะไปชี้บกพร่องมิได้ และบางทีก็กล่าวหากันไป ก็ไม่เห็นมีใครเอาเรื่องอะไร เพราะถ้าจะดำเนินการก็มีขั้นตอนของมัน และก่อนหน้านี้คนที่เคยถอนเรื่องคุณสมบัติจริยธรรมก็เคยมีมาแล้ว.